วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความ รู้เกี่ยวกับลักษณะพืชสมุนไพร

ความ รู้เกี่ยวกับลักษณะพืชสมุนไพร

วิธีสังเกตลักษณะของพืชสมุนไพร

ราก
รากคือ ส่วนหนึ่งที่งอกต่อจากต้นลงไปในดิน ไม่แบ่งข้อและไม่แบ่งปล้อง ไม่มีใบ ตา และดอก หน้าที่ของราก คือ สะสมและดูดซึมอาหารมาบำรุงเลี้ยงต้นพืช นอกจากนี้ยังยึดและค้ำจุนต้นพืช
อีกด้วย รากของต้นพืชหลายชนิดก็ใช้เป็นยา
สมุนไพรได้ เช่น กระชาย เป็นต้น
รูปร่างและลักษณะของราก แบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ คือ
1. ระบบรากแก้ว
ต้นพืชหลายชนิดเป็นแบบรากแก้ว คือมีรากสำคัญงอกออกจากลำต้นส่วนปลายรูปร่างยาว ใหญ่ เป็นรูปกรวยด้านข้างของราแก้ว จะแตกแขนงออกได้ 2-3 ครั้ง ไปเรื่อย ๆ รากเล็กส่วนปลายจะมีรากฝอยเล็ก ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อเพิ่มเนื้อที่ในการดูดซึมอาหารให้กับต้นพืช มักจะพบว่าพืชใบเลี้ยงคู่จะมีรากแบบรากแก้ว ตัวอย่างพืชที่มีลักษณะนี้คือ ขี้เหล็ก คูน มะกา มะหาด เป็นต้น
2. ระบบรากฝอย
เป็นรากที่งอกออกจากลำต้นส่วนปลายพร้อมกันหลายๆ ราก ลักษณะ เป็นรากกลมยาวขนาดเท่าๆ กันพบว่าพืชใบเลี้ยงเดี่ยวจะมีรากแบบรากฝอย ตัวอย่างพืชที่มีรากแบบนี้คือ ตะไคร้ หญ้าคา เป็นต้น บางทีรากจะเปลี่ยนลักษณะไป เนื่องจากได้รับอิทธิพล
จากสิ่งแวดล้อมภายนอก รากที่เปลี่ยนลักษณะไปนี้มีหลายชนิด เช่น รากสะสมอาหาร รากค้ำจุน รากเกี่ยวพัน รากอากาศ เป็นต้น รากชนิดนี้บางครั้งก็อยู่บนดินจะต้องใช้การสังเกต แต่อย่างไรก็ตาม มันยังคงลักษณะทั่วไปของรากให้เราสังเกตเห็นได้
ลำต้น
เป็นโครงค้ำที่สำคัญของพืช ปกติอยู่เหนือผิวดิน หรืออาจบางทีมีบางส่วนอยู่ใต้ดิน มี ข้อ ปล้อง ใบ หน่อ และดอก หน้าที่ของลำต้น ลำเลียงอาหาร ค้ำจุนและสะสมอาหารให้ต้นพืช ลำต้นของต้นไม้หลายชนิดเป็น ยาสมุนไพร เช่น ขี้เหล็ก แคบ้าน บอระเพ็ด ตะไคร้ มะขาม เป็นต้น รูปร่างและลักษณะของลำต้น แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ ตา ข้อ และปล้อง บริเวณเหล่านี้จะมีกิ่งก้าน ใบ ดอก เกิดขึ้นซึ่งทำให้ต้นพืชแต่ละชนิดมีลักษณะแตกต่างกันออกไป หากต้องการสังเกตส่วนที่เหนือดินของพืชสมุนไพร สิ่งแรกที่ต้องสังเกต คือ ลำต้นของต้นพืชนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร ลักษณะตา ข้อ และปล้องเป็นอย่างไร แตกต่างจากลำต้นของต้นพืชอย่างไร
ชนิดของลำต้น แบ่งตามลักษณะภายนอกของลำต้นได้ ดังนี้
1.ประเภทไม้ยืนต้น เป็นไม้ที่ขึ้นตรงและสูงใหญ่ มีเนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง ลำต้นชัดเจนแบ่งกิ่งก้านแผ่ออกไป เช่น อบเชย มะกา ยอ คูน เป็นต้น
2.ประเภทไม้พุ่ม มีลำต้นไม่ชัดเจน สามารถแบ่งกิ่งได้ตั้งแต่ส่วนโคนของลำต้น เป็นต้นไป เช่น ทองพันชั่ง มะนาว ชุมเห็ดเทศ ขลู่ เป็นต้น
3.ประเภทหญ้า มีลำต้นลักษณะเดียวกับพวกหญ้า ใบมีลักษณะอ่อนเหนียว เช่น แห้วหมู หญ้าคา เป็นต้น
4.ประเภทไม้เลื้อย ก้านยาวและไม่สามารถตั้งตรงได้ มีลักษณะเลี้อยพันคดเคี้ยวไปโดยใช้ส่วนของพืชเกาะ เช่น หนวด หนาม เป็นต้น เนื้อไม้ของลำต้นบางชนิดแข็ง และบางชนิดก็อ่อนเช่นเดียวกับหญ้า เช่น ฟักทอง บอระเพ็ด มะแว้งเครือ เล็บมือนาง เป็นต้น
ใบ
ใบเป็นส่วนประกอบที่สำคัญกับต้นพืชมีหน้าที่ สังเคราะห์แสง ผลิตอาหาร และเป็นส่วนแลกเปลี่ยนน้ำและอากาศของต้นพืช ใบเกิดจากด้านนอกของกิ่งหรือตากิ่ง ลักษณะที่พบ
โดยทั่วไปเป็นแผ่นที่มีสีเขียว (สีเขียวเกิดจากสารชื่อคลอโรฟิลล์ อยู่ในใบของพืช) ใบของพืชหลายชนิดใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เช่น มะกา ฟ้าทะลายโจร กะเพรา ชุมเห็ดเทศ ฝรั่ง มะขามแขก เป็นต้น รูปร่างและลักษณะของใบใบที่สมบูรณ์มีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ตัวใบ ก้านใบและหูใบ ใบที่มีส่วนประกอบครบทั้ง 3 ส่วน เรียกว่าใบสมบูรณ์ และใบที่มีส่วนประกอบไม่ครบ อาจมีเพียงหนึ่งหรือสองส่วน
เรียกว่า ใบไม่สมบูรณ์ ตัวใบมีลักษณะเป็นแผ่น ตัวใบยึดอยู่กับก้านใบ ด้านล่างของก้านใบติดกับตากิ่ง หูใบติดอยู่กับด้านข้างทั้งสองข้างก้านใบส่วนปลาย หูใบนี้มีบทบาทป้องกัน รักษาใบขณะยังอ่อนอยู่ หูใบมักมีขนาดเล็ก และเป็นสีเขียว หากพิจารณาถึงลักษณะของตัวใบจะประกอบด้วย รูปร่างของใบ ปลายใบ ฐานใบหรือโคนใบ ริมใบหรืออาจเรียกว่า หยักใบ และอาจสังเกตภายในของตัวใบได้อีกถึงเส้นใบและเนื้อของใบในที่นี้จะไม่จำแนก ว่า ปลายใบหรือโคนใบมีกี่แบบ เพราะจะยุ่งยากและซับซ้อนเกินไป จึงขอเสนอแนะเพียงว่า หากต้องการสังเกต ลักษณะของใบ ให้พิจารณาตั้งแต่รูปร่างของใบ
ปลายใบ โคนใบ ริมใบ เส้นใบ และเนื้อของใบ อย่างละเอียดและอาจเปรียบเทียบกับลักษณะของตัวใบที่คล้ายคลึงกัน จะทำให้จำแนกใบได้ชัดเจน
ชนิดของใบแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
1.แบบใบเดี่ยว คือ ก้านใบอันหนึ่งมีเพียงใบเดียว เช่น กระวาน กานพูล ขลู่ ยอ เป็นต้น
2.แบบใบประกอบ คือ ใบตั้งแต่ 2 ใบ ขึ้นไปที่เกิดขึ้นบนก้านอันใบเดียวมี มะขามแขก แคบ้าน ขี้เหล็ก เป็นต้น
สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างของใบ คือ ลักษณะการเรียงตัวของใบที่มีหลายแบบ เช่น เกิดสับหว่างกัน เกิดเป็นคู่ เกิดเป็นกลุ่ม เกิดเป็นวงกลม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเส้นใบ โดยทั่วไป เส้นใบมี 2 แบบ คือ แบบขนานและแบบร่างแห รวมทั้งยังมีความแตกต่างของเนื้อใบ เนื้อใบมีหลายอย่างเช่น แบบหนัง แบบหญ้า แบบกระดาษ แบบอมน้ำ หากสังเกตตัวใบควรสังเกตความหนาบางและความอบน้ำของใบด้วย จะช่วยให้เรารู้จักต้นไม้นั้นดียิ่งขึ้น
ดอก
ดอกเป็นส่วนที่สำคัญในการแพร่พันธุ์ของพืช เป็นลักษณะเด่นพิเศษของต้นไม้แต่ละชนิด
ส่วนประกอบของดอกมีความแตกต่างกันตามชนิดของพันธุ์ไม้ และลักษณะที่แตกต่างกันนี้ใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการจำแนกประเภทของต้นไม้ ดอกของต้นไม้หลายชนิดเป็นยาได้ เช่น กานพลู ชุมเห็ดเทศ พิกุล ลำโพง ดอกคำฝอย
เป็นต้น
รูปร่างและลักษณะของดอก ดอกมีส่วนประกอบสำคัญ 5 ส่วน คือ ก้านดอก กลีบรองกลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย
ดอกที่มีส่วนประกอบครบ 5 ส่วนเรียกว่า ดอกสมบูรณ์ การสังเกตลักษณะของดอกควรสังเกตทีละส่วนอย่างละเอียด เช่น กลีบดอกสังเกตจำนวนของกลีบดอก การเรียงตัวของกลีบดอก รูปร่างของกลีบดอก สี กลิ่น เป็นต้นลักษณะที่ดอกออกจากตาดอกนั้นมีทั้งแบบดอกเดี่ยว คือ ก้านดอกอันหนึ่งมีดอกเพียงดอกเดี่ยวและแบบดอกช่อ คือ ก้านดอกอันหนึ่งมีมากกว่า 2 ดอกขึ้นไป การเรียงตัวของช่อดอกนี้มีมากมาย
หลายอย่างขึ้นอยู่กับชนิดของพืช จึงควรสังเกตลักษณะพิเศษของดอกแต่ละชนิดให้ดี
ผล
ผล คือ ส่วนของพืชที่เกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน หรือคนละดอกก็ได้ มีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันออกไปตามชนิดของพืช มีผลของต้นไม้บางอย่างเป็นยาได้ เช่น มะเกลือ ดัปลี มะแว้งต้น กระวาน เป็นต้น
รูปร่างและลักษณะผล มีมากมายหลายอย่างตามชนิดของต้นไม้ที่แตกต่างกัน แบ่งลักษณะการเกิดของผล แบ่งได้เป็น
1. ผลเดี่ยว คือ ผลที่เกิดจากรังไข่อันเดี่ยว
2. ผลกลุ่ม คือ ผลที่เกิดจากดอกเดี่ยวที่มีหลายรังไข่หลอมรวมกัน เช่น น้อยเหน่า เป็นต้น
3. ผลรวม คือ ผลที่เกิดจากดอกหลายดอก เช่น สับปะรด เป็นต้น
และยังมีการแบ่งผลออกเป็น 3 แบบ คือ ผลเนื้อ ผลแห้งชนิดแตก และผลแห้งชนิดไม่แตกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การสังเกตลักษณะของ
ผลทำได้ไม่ยาก ต้องสังเกตลักษณะผลทั้งลักษณะภายนอก และภายในจึงจะสามารถจำแนกผลไม้นั้นว่า แตกต่างกับต้นไม้อย่างอื่นอย่างไร
นอกจากผลของต้นไม้เป็นยาได้ ยังมีเมล็ดภายในผลที่อาจเป็นยาได้อีกเช่น สะแก ฟักทอง เป็นต้น ฉะนั้นในการสังเกตลักษณะของผล ควรสังเกตลักษณะรูปร่างของเมล็ดไปพร้อมกันด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น