วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สรรพคุณเภสัช รสยา 4

สรรพคุณเภสัช
คือ การรู้จักสรรพคุณของวัตถุธาตุนานาชนิด อันได้แก่ พืช สัตว์ และธาตุ ที่จะนำมาใช้ปรุงเป็นยาสำหรับรักษาโรคหรือแก้ไข้ โดยจะต้องรู้จักรสของยา เมื่อรู้จักรสของยาแล้ว รสของยานั้นจะบอกถึงสรรพคุณของยา

รสของยา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ รสของยาที่ปรุงสำเร็จแล้ว เรียกว่า รสประธาน มี 3 รส และรสของเครื่องยาแต่ละชนิด ซึ่งโบราณาจารย์ได้แบ่งออกเป็นหลายแบบ เช่น ยา 4 รส ยา 6รส ยา 8 รส และยา 9รส หลักการแพทย์แผนไทยนิยมใช้รสยา 9 รสเป็นหลัก




รสยา 4 รส (ตามคัมภีร์ธาตุวิภังค์)

1. ยารสฝาด ซาบไปตามผิวเนื้อ เอ็น และเส้น

2. ยารสเผ็ด ซาบไปในผิวหนังทุกเส้นขน

3. ยารสเค็ม ซาบไปทุกเส้นเอ็นและกระดูกทั่วสรรพางค์กาย

4. ยารสเปรี้ยว ซาบไปในเส้นเอ็นทั่วสรรพางค์กาย



ยา 6 รส (ตามคัมภึร์วรโยคสาร)

1. มธุระ รสหวาน ชอบ กับตา เจริญรสธาตุ

2. อัมพิละ รสเปรี้ยว ทำให้ลม ดี เสลด อนุโลมตามซึ่งตน เจริญรสอาหาร กระทำสารพัดดิบให้สุก ถ้าใช้เป็นเกิดคุณ ใช้ไม่เป็นเกิดโทษ

3. กฎุก รสเผ็ดร้อน ทำให้กำลังน้อย ระงับความเกียจคร้าน ระงับพิษมิให้เจริญ บำรุงไฟธาตุ ทำให้อาหารสุก

4. ลวณะ รสเค็ม เผาโทษ เผาเขฬะ ให้เจริญไฟธาตุ

5. ติดติกะ รสขม เจริญไฟธาตุ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ทำให้มูตรและคูถบริสุทธิ์เจริญรสอาหาร

6. กาสะวะ รสฝาด เจริญไฟธาตุ เจริญผิวกายและเนื้อ แก้กระหายน้ำ

รสทั้ง 6 ทำให้เกิดโทษได้ดังนี้

1. รสเผ็ด รสขม รสฝาด ทำให้ลมกำเริบ

2. รสเผ็ด รสเปรี้ยว รสเค็ม ทำให้ดีกำเริบ

3. รสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม ทำให้เสลดกำเริบ

ยา 8 รส (ตามคัมภีร์ธาตุวิวร)

1. รสฝาด ซาบมังสา

2. รสขม ซาบตามผิวหนัง

3. รสเค็ม ซาบตามเส้นเอ็น

4. รสเผ็ดร้อน ซาบกระดูก

5. รสหวาน ซาบลำไส้ใหญ่

6. รสเปรี้ยว ซาบลำไส้น้อย

7. รสหอมเย็น ซาบหัวใจ

8. รสมัน ซาบข้อต่อทั้งปวง



รสยา 9 รส

เป็นรสของเครื่องยา คือตัวยาสมุนไพรแต่ละชนิดที่จะนำมาปรุงเป็นยา รสของเครื่องยาที่นิยมใช้เป็นหลักในประเทศไทย มี 9 รส และ รสจืดอีก 1 รส รวมเป็น 10 รส แต่คณาจารย์ก็ยังนิยมเรียกว่ารสยา 9 รสอยู่เช่นเดิม มีดังนี้

1. ยารสฝาดชอบสมาน

2. ยารสหวานซึมซาบไปตามเนื้อ

3. ยารสเมาเบื่อ แก้พิษ

4. ยารสขมแก้ทางดีและโลหิต

5. ยารสเผ็ดร้อนแก้ลม

6. ยารสมันแก้เส้นเอ็น

7. ยารสหอมเย็น บำรุงหัวใจ

8. ยารสเค็มซึมซาบไปตามผิวหนัง

9. ยารสเปรี้ยวกัดเสมหะ

ในตำรา เวชศึกษาจัดรสยาเพิ่มอีก 1 รส คือ ยารสจืด ใช้สำหรับ แก้ในทางเตโช ขับปัสสาวะ ดับพิษร้อน แก้ไข้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น