วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการปรุงยาไทย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการปรุงยาไทย

ข้อควรเข้าใจโดยทั่วไป

1.

ถ้าไม่ได้บอกว่าใช้สดหรือแห้ง ให้ถือว่าใช้สด
2.

เวลาใช้ภายใน ถ้าไม่ได้ระบุวิธีใช้แล้ว ให้เข้าใจว่าใช้วิธีต้ม
3.

เวลาใช้ภายนอก ถ้าไม่ได้ระบุวิธีใช้แล้ว ให้เข้าใจว่าใช้ตำพอก
4.

ยากินหรือรับประทาน ให้กินหรือรับประทานวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร
5.

ยาต้ม ใช้ครั้งละ 1/2 - 1 แก้ว (250 ซี.ซี.)
ยาดอง, ยาคั้นเอาน้ำ ใช้ครั้งละ 1/2 - 1 ช้อนโต๊ะ
ยาผง ใช้ครั้งละ 1-2 ช้อนชา
ยาปั้น, ลูกกลอน ใช้ครั้งละ 1-2 เม็ด (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม.)
ยาชง ใช้ครั้งละ 1 แก้ว

วิธีปรุงยาไทย

1.

ยาต้ม
การเตรียม ปริมาณที่ใช้โดยทั่วไปใช้ 1 กำมือ คือเอาต้นยามาขดมัดรอบกันเป็นท่อนกลม ยาวขนาด 1 ฝ่ามือ กว้างขนาดใช้มือกำได้โดยรอบพอดี ถ้าต้นยานั้นแข็งนำมาขดมัดไม่ได้ ให้หั่นเป็นท่อน ยาวขนาด 5-6 นิ้วฟุต กว้าง 1/2 นิ้วฟุต แล้วเอามารวมกันให้ได้ขนาด 1 กำมือ
การต้ม เทน้ำลงไปพอให้น้ำท่วมยาเล็กน้อย (ประมาณ 3-4 แก้ว) ถ้าปริมาณยาที่ระบุไว้น้อยมาก เช่น ใช้เพียง 1 หยิบมือ ให้เทน้ำลงไป 1 แก้ว (250 ซี.ซี) ต้มให้เดือดนาน 10-30 นาที แล้วแต่ว่าต้องการเข้มข้นหรือเจือจาง รับประทานในขณะที่ยายังอุ่นๆ
2.

ยาชง
การเตรียม ปกติใช้ยมแห้งชง โดยหั่นต้นยาสดให้เป็นชิ้นเล็กๆ บางๆ ตากแดดให้แห้ง ถ้าต้องการให้ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว ให้เอาไปคั่วเสียก่อน จะมีกลิ่นหอม
การชง ใช้สมุนไพร 1 ส่วน เติมน้ำเดือดลงไป 10 ส่วน ปิดฝาตั้งทิ้งไว้ 15-20 นาที
3.

ยาดอง
การเตรียม ปกติยาแห้งดอง โดยบดต้นสมุนไพรให้แหลกพอหยาบๆ ห่อด้วยผ้าขาวบาง ห่อหลวมๆ เผื่อยาพองตัวเวลาอมน้ำ
การดอง เติมเหล้าให้ท่วมห่อผ้ายา ตั้งทิ้งไว้ 7 วัน
4.

ยาปั้นลูกกลอน
การเตรียม หั่นต้นสมุนไพรสดให้เป็นแว่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงในขณะที่ยังร้อน (เพราะแดด) อยู่ เพราะยาจะกรอบบดง่าย
การปั้นยา ใช้ผงยา 2 ส่วน ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม 1 ส่วน ตั้งทิ้งไว้ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ปั้นยาได้ง่าย ไม่ติดมือ ปั้นเป็นลูกกลมๆ เล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ปั้นเสร็จผึ่งแดดจนแห้ง จากนั้นอีก 2 อาทิตย์ นำมาผึ่งแดดอีกที กันเชื้อราขึ้นยา
5.

ตำคั้นเอาน้ำกินหรือดื่ม
โดยเอาต้นสมุนไพรสดๆ ตำให้ละเอียดจนเหลว ถ้าไม่มีน้ำให้เติมน้ำลงไปจนเหลว คั้นเอาน้ำยาที่ได้กิน ยาบางอย่าง เช่น กระทือ กระชาย ให้นำไปเผาให้สุกเสียก่อน จึงค่อยตำ
6.

ยาพอก
การเตรียมยา ใช้ต้นสมุนไพรสดตำให้แหลกที่สุด แต่อย่าตำจนยาเหลว ตำพอให้ยาเปียกๆ ก็พอ ถ้ายาแห้งให้เติมน้ำหรือเหล้าลงไป
การพอก พอกแล้วต้องคอยหยอดน้ำให้ยาเปียกชื้นอยู่เสมอ เปลี่ยนยาวันละ 3 ครั้ง

ข้อ ควรรู้ทั่วไปในการใช้ยาสมุนไพร

ข้อ ควรรู้ทั่วไปในการใช้ยาสมุนไพร

1.

กลุ่มอาการ / โรคที่แนะนำให้ใช้สมุนไพร
ปัจจุบันการใช้สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน ส่งเสริมและเผยแพร่การใช้สมุนไพรตัวเดียวเพื่อรักษาโรค / อาการเบื้องต้นที่พบบ่อยๆ และเนื่องจากสมุนไพรหลายชนิดเป็นพืชผักที่รับประทานอยู่เป็นประจำ จึงแนะนำไว้ในการส่งเสริมสุขภาพด้วย (รวมทั้งสีผสมอาหารที่อยู่ตามธรรมชาติ)
กลุ่มโรค/อาการเบื้องต้นที่แนะนำให้ใช้สมุนไพรมี 18 โรค ดังนี้
- อาการท้องผูก
- อาการท้องอึดอัด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด
- อาการท้องเสีย (แบบไม่รุนแรง)
- พยาธิลำไส้
- บิด
- อาการคลื่นไส้ อาเจียน (เหตุจากธาตุไม่ปกติ)
- อาการไอ ขับเสมหะ
- อาการไข้
- อาการขัดเบา (คือปัสสาวะไม่สะดวก กะปริบกะปรอยแต่ไม่มีอาการบวม)
- โรคกลาก
- โรคเกลื้อน
- อาการนอนไม่หลับ
- ฝี แผลพุพอง (ภายนอก)
- อาการเคล็ดขัดยอก (ภายนอก)
- อาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย (ภายนอก)
- แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ภายนอก)
- เหา
- ชันนะตุ
หากเป็นโรค/ อาการเหล่านี้ให้ใช้สมุนไพรที่แนะนำ และหยุดใช้เมื่อหายไป แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรไปปรึกษาศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาล
ถ้าผู้ป่วยมีอาการโรค/ อาการดังกล่าว แต่เป็นอาการที่รุนแรง ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ไม่ควรรักษาด้วยการซื้อยารับประทานเองหรือใช้สมุนไพร อาการที่รุนแรงมีดังนี้
1. ไข้สูง (ตัวร้อนจัด) ตาแดง ปวดเมื่อยมาก ซึม บางทีพูดเพ้อ (อาจเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไข้ป่าชนิดขึ้นสมอง)
2. ไข้สูงและดีซ่าน (ตัวเหลือง) อ่อนเพลียมาก อาจเจ็บในแถวชายโครง อาจเป็นโรคตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ฯลฯ
3. ปวดแถวสะดือ เวลาเอามือกดเจ็บปวดมากขึ้น หน้าท้องแข็ง อาจท้องผูกและมีไข้เล็กน้อยหรือมาก (อาจเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบอย่างแรง หรือลำไส้ส่วนอื่นอักเสบ)
4. เจ็บแปลบในท้องคล้ายมีอะไรฉีกขาด ปวดท้องรุนแรงมาก อาจมีตัวร้อนและคลื่นไส้อาเจียนด้วย บางทีมีประวัติปวดท้องบ่อยๆ มาก่อน (อาจมีการะลุของกระเพาะอาหารหรือลำไส้)
5. อาเจียนเป็นโลหิต หรือไอเป็นโลหิต (อาจเป็นโรคร้ายแรงของกระเพาะอาหารหรือปอด) ต้องให้คนไข้นอนพักนิ่งๆ ก่อน ถ้าแพทย์อยู่ใกล้ควรเชิญมาตรวจที่บ้าน ถ้าจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์ ควรรอให้เลือดหยุดเสียก่อน และควรพาไปโดยมีการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด
6. ท้องเดินอย่างแรง อุจจาระเป็นน้ำ บางทีมีลักษณะคล้ายน้ำซาวข้าว บางทีถ่ายพุ่ง ถ่ายติดต่อกันอย่างรวดเร็ว คนไข้อ่อนเพลียมาก ตาลึก หนังแห้ง (อาจเป็นอหิวาตกโรค) ต้องพาไปพบแพทย์โดยด่วน ถ้าไปไม่ไหวต้องแจ้งแพทย์หรืออนามัยที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว
7. ถ่ายอุจจาระเป็นมูกและเลือด บางทีเกือบไม่มีเนื้ออุจจาระเลย ถ่ายบ่อยมาก อาจจะตั้งสิบครั้งในหนึ่งชั่วโมง คนไข้เพลียมาก (อาจเป็นโรคบิดอย่างรุนแรง)
8. สำหรับเด็ก โดยเฉพาะอายุภายในสิบสองปี ไข้สูง ไอมาก หายใจมีเสียงผิดปกติ คล้ายๆ กับมีอะไรติดอยู่ในคอ บางทีก็มีอาการหน้าเขียวด้วย (อาจเป็นโรคคอตีบ) ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด
9. อาการตกเลือดเป็นเลือดสดๆ จากทางไหนก็ตาม โดยเฉพาะทางช่องคลอด ต้องพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
2.

กลุ่มอาการ / โรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพร
เป็นโรคร้ายแรง โรคเรื้อรัง หรือโรคที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่ารักษาด้วยสมุนไพรได้ เช่น งูพิษกัด สุนัขบ้ากัด บาดทะยัก กระดูกหัก มะเร็ง วัณโรค กามโรค ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเรือน ดีซ่าน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดบวม (ปอดอักเสบ) อาการบวม ไทยฟอยด์ โรคตาทุกชนิด

3.

ข้อแนะนำในการใช้สมุนไพร
1. ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรมีชื่อพ้องหรือซ้ำกันมาก และบางท้องถิ่นก็เรียกไม่เหมือนกัน จึงต้องรู้จักสมุนไพรและใช้ให้ถูกต้น
2. ใช้ให้ถูกส่วน ต้นสมุนไพรไม่ว่าจะเป็นราก ใบ ดอก เปลือก ผล เมล็ด จะมีฤทธิ์ไม่เท่ากัน บางทีผลแก่ ผลอ่อน มีฤทธิ์ต่างกันด้วย จะต้องรู้ว่าส่วนใดใช้เป็นยาได้
3. ใช้ให้ถูกขนาด สมุนไพรถ้าใช้น้อยไป ก็รักษาไม่ได้ผล แต่ถ้ามากไปก็อาจเป็นอันตราย หรือเกิดพิษต่อร่างกายได้
4. ใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรบางชนิดต้องใช้สด บางชนิดต้องปนกับเหล้า บางชนิดใช้ต้ม จะต้องรู้วิธีใช้ให้ถูกต้อง
5. ใช้ให้ถูกกับโรค เช่น ท้องผูก ต้องใช้ยาระบาย ถ้าใช้ยาที่มีฤทธิ์ฝาดสมานก็จะทำให้ท้องผูกยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ยังต้องระมัดระวังในเรื่องความสะอาดในการเก็บยา การเตรียมยา และเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำยาจะต้องสะอาดด้วย มิฉะนั้นอาจเกิดโรคอื่นติดตามมา

4.

อาการแพ้ที่เกิดจากสมุนไพร
สมุนไพร มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับยาทั่วไป คือมีทั้งคุณและโทษ บางคนใช้แล้วเกิดอาการแพ้ได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อย เพราะสมุนไพรมิใช่สารเคมีชนิดเดียวเช่นยาแผนปัจจุบัน ฤทธิ์จึงไม่รุนแรง (ยกเว้นพวกพืชพิษบางชนิด) แต่ถ้าเกิดอาการแพ้ขึ้นควรหยุดยาเสียก่อน ถ้าหยุดแล้ว อาการหายไป อาจทดลองใช้ยาอีกครั้งโดยระมัดระวัง ถ้าอาการเช่นเดิมเกิดขึ้นอีก แสดงว่าเป็นพิษของยาสมุนไพรแน่ ควรหยุดยาและเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น หรือถ้าอาการแพ้รุนแรง ควรไปรับการรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาล

อาการที่เกิดจากการแพ้สมุนไพร มีดังนี้
1. ผื่นขึ้นตามผิวหนัง อาจเป็นตุ่มเล็กๆ ตุ่มโตๆ เป็นปื้นหรือเป็นเม็ดแบบคล้ายลมพิษ อาจบวมที่ตา (ตาปิด) หรือริมฝีปาก (ปากเจ่อ) หรือมีเพียงดวงสีแดงที่ผิวหนัง
2. เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน (หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง) ถ้ามีอยู่ก่อนกินยา อาจเป็นเพราะโรค
3. หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้น ชาที่ผิวหนัง
4. ประสาทความรู้สึกทำงานไวเกินปกติ เช่น เพียงแต่แตะผิวหนังก็รู้สึกเจ็บ ลูบผมก็แสบหนังศีรษะ ฯลฯ
5. ใจสั่น ใจเต้น หรือรู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น และเป็นบ่อยๆ
6. ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลือง เขย่าเกิดฟองสีเหลือง (เป็นอาการของดีซ่าน) อาการนี้แสดงถึงอันตรายร้ายแรง ต้องรีบไปพบแพทย์

สิ่งน่ารู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพร

สิ่งน่ารู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพร


1.

ควรเริ่มใช้สมุนไพรที่เป็นอาหารก่อน และควรรู้พิษยาก่อนใช้ รู้ข้อห้ามใช้ เพราะยาบางชนิดมีข้อห้ามใช้กับคนบางคน บางโรค เมื่อรู้สิ่งเหล่านี้ จะทำให้การใช้ยาปลอดภัยขึ้น
2.

ถ้ายาใดไม่เคยกินมาก่อน ควรเริ่มกินในขนาดน้อยๆ ก่อน เช่น กินเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดที่กำหนดไว้ ถ้าร่างกายไม่มีอะไรผิดปกติจึงค่อยกินต่อไป
3.

อย่าใช้ยาเข้มข้นเกินไป เช่น ยาใช้ต้มกินต่างน้ำ ไม่ควรใช้ต้มเคี่ยวกินยาเข้มข้นเกินไป จนทำให้เกิดพิษได้
4.

คนที่อ่อนเพลียมาก เด็กอ่อน คนชรา ห้ามใช้ยามาก เพราะคนเหล่านี้ มีกำลังต้านทานยาน้อย จะทำให้เกิดพิษได้ง่าย
5.

โดยทั่วๆ ไป เมื่อกินยาสมุนไพรแล้ว 1 วัน อาการไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนยา แต่ถ้าเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคกระเพาะ หืด ฯลฯ เมื่อใช้ยาสมุนไพร 1 อาทิตย์แล้ว อาการไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนยา

การปลูกและบำรุงรักษาพืชสมุนไพร

การปลูกและบำรุงรักษาพืชสมุนไพร
หลักการทั่วไปของการปลูกและบำรุงรักษาพืชทั่วไปและพืชสมุนไพร ไม่แตกต่างกัน แต่ความอุดมสมบูรณ์ของพืชสมุนไพร จะเป็นเครื่องชี้บอกคุณภาพของสมุนไพรได้ พืชสมุนไพรต้องการการปลูกและบำรุงรักษาใกล้เคียงกับลักษณะธรราชาติของพืช สมุนไพรนั้นมากที่สุด เช่น ว่านหางจระเข้ ต้องการดินปนทราย และอุดมสมบูรณ์ แดดพอเหมาะ หรือต้นเหงือกปลาหมอชอบขึ้นในที่ดินเป็นเลน และที่ดินกร่อยชุ่มชื้นเป็นต้น หากผู้ปลูกสมุนไพรเข้าใจสิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถเลือกวิธีปลูกและจัดสภาพ แวดล้อมของต้นไม้ได้เหมาะกับพืชสมุนไพร ก็จะเจริญเติบโตได้ เป็นผลทำให้คุณภาพพืชสมุนไพรที่นำมารักษาโรคมีฤทธิ์ดีขึ้นด้วย
การปลูกและการบำรุงรักษาพืชสมุนไพร โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ไม่จริงจังเท่าที่ควร บางประเทศได้ทดลองเพื่อหาคำตอบว่า สภาพแวดล้อมอย่างไรจึงจะทำให้สาระสำคัญในพืชสมุนไพรชนิดนั้นๆ มากที่สุด ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน หรือการหาคำตอบว่าวิธีการขยายพันธุ์พืชสมุนไพรแต่ละชนิด จะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมและประหยัดมากที่สุด ในประเทศไทย หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีงานวิจัยด้านนี้อยู่บ้างและกำลังค้นคว้า ต่อไป
การปลูก เป็นการนำเอาส่วนของพืช เช่น เมล็ด กิ่ง หัว ผ่านการเพาะหรือการชำ หรือวิธีการอื่นๆ ใส่ลงในดิน หรือวัสดุอื่นเพื่องอกหรือเจริญเติบโตต่อไป การปลูกทำได้หลายวิธีคือ
1. การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง วิธีนี้ไม่ต้องเพาะเป็นต้นกล้าก่อน นำเมล็ดมาหว่านลงแปลงได้เลย หลังจากนั้นใช้ดินร่วนหรือทรายหยาบโรยทับบางๆ รดน้ำให้ชื้นตลอดทุกวัน เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนจึงถอนต้นที่อ่อนแอออกเพื่อให้มีระยะห่างตามสมควร ปกติมักใช้ในการปลูกผักหรือพืชล้มลุกและพืชอายุสั้น เช่น กะเพรา โหระพา ส่วนการหยอดลงหลุมโดยตรงมักใช้กับพืชที่มีเมล็ดใหญ่ เช่น ฟักทอง ละหุ่ง โดยหยอดในแต่ละหลุมมากว่าจำนวนต้อนที่ต้องการ แล้วถอนออกภายหลัง
2. การปลูกด้วยต้นกล้าหรือกิ่งชำ ปลูกโดยการนำเมล็ด หรือกิ่งชำปลูกให้แข็งแรงดีในถุงพลาสติกหรือในกระถาง แล้วย้ายปลูกในพื้นที่ที่ต้องการ การย้ายต้นอ่อนจากภาชนะเดิมไปยังพื้นที่ที่ต้องการ ต้องไม่ทำลายราก ถ้าเป็นถุงพลาสติกก็ใช้มีดกรีดถุงออก ถ้าเป็นกระถาง ถอดกระถางออกโดยใช้มือดันรูกลมที่ก้นกระถาง ถ้าดินแน่นมาก ให้ใช้เสียมเซาะดินแล้วใช้น้ำหล่อก่อน จะทำให้ถอนง่ายขึ้น หลุมที่เตรียมปลูกควรกว้างกว่ากระถางหรือถุงพลาสติกเล็กน้อย จึงทำให้ต้นอ่อนเจริญเติบโตได้สะดวก วางต้นไม้ให้ระดับรอยต่อระหว่างลำต้นกับรากอยู่เสมอกับระดับของขอบหลุมพอดี แล้วกลบด้วยดินร่วนซุย หรือดินร่วมปนทราย กดดินให้แน่นพอประมาณ นำเศษไม้ใบหญ้ามาคลุมไว้รอบโคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและป้องกันแรงกระแทกเวลารดน้ำ หาไม้หลัก ซึ่งสูงมากกว่าต้นไม้มาปักไว้ข้างๆ ผูกเชือกยึดกับต้นไม้ คอยพยุงมให้ต้นไม้ล้มหรือโยกคลอนได้ ปกติใช้กับต้นไม้ยืนต้น เช่น คูน แคบ้าน ชุมเห็ดเทศ สะแก ขี้เหล็ก เป็นต้น หรือใช้กับพันธุ์ไม้ที่งอกยากหรือมีราคาแพง จึงจำเป็นต้องเพาะเมล็ดก่อน
3. การปลูกด้วยหัว ปกติจะมีหัวที่เกิดจากราก และลำต้น เรียกชื่อแตกต่างกัน ในที่นี้จะรวมเรียกเป็นหัวหมด โดยไม่แยกรายละเอียดไว้ สำหรับการปลูกไม้ประเภทหัว ควรปลูกในที่ระบายน้ำได้ดี มิฉะนั้นจะเน่าได้ การปลูกโดยการฝังหัวให้ลึกพอประมาณ (ปกติลึกไม่เกิน 3 เท่าของความกว้างหัว) กดดินให้แน่นพอสมควร คลุมแปลงปลูกด้วยฟาง หรือหญ้าแห้ง เช่น การปลูกหอม กระเทียม
4. การปลูกด้วยหน่อหรือเหง้า ปลูกโดยอาศัยหน่อหรือเหง้า อ่านรายละเอียดในการขยายพันธุ์พืชสมุนไพร ข้อ 2.1
5. การปลูกด้วยไหล ปกตินิยมเอาส่วนของไหลมาชำไว้ก่อน จะย้ายปลูกในพื้นที่ที่เตรียมไว้อีกครั้งหนึ่ง เช่น บัวบก แห้วหมู
6. การปลูกด้วยจุก หรือตะเกียง โดยการนำจุกหรือตะเกียงมาชำในดินที่เตรียมไว้ โดยใช้ตะเกียงตั้งขึ้นตามปกติ กลบดินเฉพาะด้านล่าง เช่น สับประรด
7. การปลูกด้วยใบ เหมาะสำหรับพืชที่มีใบหนาใหญ่ และแข็งแรง คล้ายกับการปลูกด้วยส่วนของกิ่งและลำต้น คือการตัดใบไปปักหรือวางบนดินที่ชุ่มชื้นให้เกิดต้นใหม่ เช่น ว่านลิ้นมังกร
8. การปลูกด้วยราก โดยตัดส่วนของรากไปปักชำให้เกิดต้นใหม่ขึ้น เช่น ดีปลี เป็นต้น
การบำรุงรักษา เป็นการกระทำให้พันธุ์ไม้ที่ปลูกไว้เจริญงอกงามต่อไป ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องต่อไปนี้
1. การพรางแสง พันธุ์ไม้ต้องการแสงน้อยหรือพันธุ์ไม้ที่ยังอ่อนแออยู่ ควรจะได้มีการพรางแสง หากต้องปลูกพืชดังกล่าวในที่โล่งเกินไป การพรางแสงปกติจะทำชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนพืชนั้นตั้งตัวได้ แต่ถ้าเป็นพืชที่ต้องการแสงน้อย ก็ต้องมีการพรางแสงไว้ตลอดเวลา หรือปลูกใต้ต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้จะเหมาะสมกว่า
2. การให้น้ำ ปกติการปลูกควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพราะจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการให้น้ำ สำหรับการให้น้ำจะต้องพิจารณาลักษณะของพืชแต่ละชนิดประกอบด้วยว่า ต้องการน้ำมากหรือน้อย จึงจำเป็นต้องศึกษาลักษณะของพันธุ์ไม้ที่ปลูกบ้างตามสมควร แต่โดยหลักการแล้ว เมื่อปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ ก็ควรจะให้น้ำให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ปกติให้น้ำอย่างน้อยวันละครั้ง แต่หากพิจาณาเห็นว่าแฉะเกินไปก็เว้นช่วงได้ หรือหากแห้งเกินไปก็ต้องให้น้ำเพิ่มเติม คือต้องคอยสังเกตด้วย ทั้งนี้เพราะแต่ละท้องที่จะมีสภาพดินและอากาศแตกต่างกัน ส่วนการให้น้ำก็ต้องให้จนกว่าพืชจะตั้งตัวได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับพืชแต่ละชนิด แต่ก็พอสังเกตจากลักษณะของพืชนั้นได้ หากแสดงลักษณะเหี่ยวเฉาก็แสดงว่ายังตั้งตัวไม่ได้
3. การระบายน้ำ จะต้องหาวิธีการที่จะต้องระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้ ถ้าฝนตกน้ำท่วม โคนพืชที่ปลูกไว้ เพราะจะเป็นอันตรายต่อระบบรากของพืชได้ ทั้งนี้อาจทำโดยการยกร่องปลูก หรือพูนดินให้สูงขึ้นก่อนปลูก ก็จะช่วยแก้ปัญหาน้ำขังได้ถ้ามีปัญหา
4. การพรวนดิน จะช่วยทำให้ดินร่วนซุยเก็บความชื้นดี การระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศเป็นไปได้ดี อีกทั้งเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วย จึงควรมีการพรวนดินให้พืชที่ปลูกบ้างเป็นครั้งคราว แต่พยายามอย่าให้กระทบกระเทือนรากมากนัก และควรพรวนในขณะที่ดินแห้งพอควร
5. การให้ปุ๋ย ปกติจะให้ก่อนปลูกอยู่แล้ว โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (สูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ) รองก้นหลุม แต่เนื่องจากมีการสูญเสียไปและพืชนำไปใช้ด้วย จึงจำเป็นต้องใส่เพิ่มเติมโดยอาจจะใส่ก่อนฤดูฝน 1 ครั้ง และใส่หลังฤดูฝน 1 ครั้ง ซึ่งอาจใส่แบบเป็นแถวระหว่างพืชหรือหว่านทั่วแปลง หรือใส่รอบๆ โคนต้น บริเวณของทรงพุ่ม หรือใช้ปุ๋ยเกล็ดผสมน้ำฉีดให้ทางใบ
การบำรุงรักษาพืชสมุนไพรควรหลีกเลี่ยงสารเคมี ไม่ว่าด้านการให้ปุ๋ยหรือการกำจัดวัชพืช ศัตรูพืช เนื่องจากสารเคมีอาจมีผลทำให้ปริมาณสาระสำคัญในสมุนไพรเปลี่ยนแปลง หรืออาจมีพิษตกค้าง เป็นอันตรายต่อการใช้สมุนไพร ควรจะเลือกวิธีดูแลรักษาให้เป็นไปตามธรรมชาติให้มากที่สุด

สรรพคุณเภสัช รสยา 4

สรรพคุณเภสัช
คือ การรู้จักสรรพคุณของวัตถุธาตุนานาชนิด อันได้แก่ พืช สัตว์ และธาตุ ที่จะนำมาใช้ปรุงเป็นยาสำหรับรักษาโรคหรือแก้ไข้ โดยจะต้องรู้จักรสของยา เมื่อรู้จักรสของยาแล้ว รสของยานั้นจะบอกถึงสรรพคุณของยา

รสของยา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ รสของยาที่ปรุงสำเร็จแล้ว เรียกว่า รสประธาน มี 3 รส และรสของเครื่องยาแต่ละชนิด ซึ่งโบราณาจารย์ได้แบ่งออกเป็นหลายแบบ เช่น ยา 4 รส ยา 6รส ยา 8 รส และยา 9รส หลักการแพทย์แผนไทยนิยมใช้รสยา 9 รสเป็นหลัก




รสยา 4 รส (ตามคัมภีร์ธาตุวิภังค์)

1. ยารสฝาด ซาบไปตามผิวเนื้อ เอ็น และเส้น

2. ยารสเผ็ด ซาบไปในผิวหนังทุกเส้นขน

3. ยารสเค็ม ซาบไปทุกเส้นเอ็นและกระดูกทั่วสรรพางค์กาย

4. ยารสเปรี้ยว ซาบไปในเส้นเอ็นทั่วสรรพางค์กาย



ยา 6 รส (ตามคัมภึร์วรโยคสาร)

1. มธุระ รสหวาน ชอบ กับตา เจริญรสธาตุ

2. อัมพิละ รสเปรี้ยว ทำให้ลม ดี เสลด อนุโลมตามซึ่งตน เจริญรสอาหาร กระทำสารพัดดิบให้สุก ถ้าใช้เป็นเกิดคุณ ใช้ไม่เป็นเกิดโทษ

3. กฎุก รสเผ็ดร้อน ทำให้กำลังน้อย ระงับความเกียจคร้าน ระงับพิษมิให้เจริญ บำรุงไฟธาตุ ทำให้อาหารสุก

4. ลวณะ รสเค็ม เผาโทษ เผาเขฬะ ให้เจริญไฟธาตุ

5. ติดติกะ รสขม เจริญไฟธาตุ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ทำให้มูตรและคูถบริสุทธิ์เจริญรสอาหาร

6. กาสะวะ รสฝาด เจริญไฟธาตุ เจริญผิวกายและเนื้อ แก้กระหายน้ำ

รสทั้ง 6 ทำให้เกิดโทษได้ดังนี้

1. รสเผ็ด รสขม รสฝาด ทำให้ลมกำเริบ

2. รสเผ็ด รสเปรี้ยว รสเค็ม ทำให้ดีกำเริบ

3. รสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม ทำให้เสลดกำเริบ

ยา 8 รส (ตามคัมภีร์ธาตุวิวร)

1. รสฝาด ซาบมังสา

2. รสขม ซาบตามผิวหนัง

3. รสเค็ม ซาบตามเส้นเอ็น

4. รสเผ็ดร้อน ซาบกระดูก

5. รสหวาน ซาบลำไส้ใหญ่

6. รสเปรี้ยว ซาบลำไส้น้อย

7. รสหอมเย็น ซาบหัวใจ

8. รสมัน ซาบข้อต่อทั้งปวง



รสยา 9 รส

เป็นรสของเครื่องยา คือตัวยาสมุนไพรแต่ละชนิดที่จะนำมาปรุงเป็นยา รสของเครื่องยาที่นิยมใช้เป็นหลักในประเทศไทย มี 9 รส และ รสจืดอีก 1 รส รวมเป็น 10 รส แต่คณาจารย์ก็ยังนิยมเรียกว่ารสยา 9 รสอยู่เช่นเดิม มีดังนี้

1. ยารสฝาดชอบสมาน

2. ยารสหวานซึมซาบไปตามเนื้อ

3. ยารสเมาเบื่อ แก้พิษ

4. ยารสขมแก้ทางดีและโลหิต

5. ยารสเผ็ดร้อนแก้ลม

6. ยารสมันแก้เส้นเอ็น

7. ยารสหอมเย็น บำรุงหัวใจ

8. ยารสเค็มซึมซาบไปตามผิวหนัง

9. ยารสเปรี้ยวกัดเสมหะ

ในตำรา เวชศึกษาจัดรสยาเพิ่มอีก 1 รส คือ ยารสจืด ใช้สำหรับ แก้ในทางเตโช ขับปัสสาวะ ดับพิษร้อน แก้ไข้

สรรพคุณเภสัช

ยารสประธาน 3 รส

ยารสประธาน เป็นรสหลักและเป็นรสของยาที่ปรุงหรือปสมเป็นตำรับแล้วประกอบขึ้นจากเครื่อง ยาที่ได้มาจากเภสัชวัตถุ อันมี พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ หรือ ธาตุวัตถุ เมื่อนำมาปรุงเป็นยาแล้ว จึงรวมรสของเครื่องยา แยกเป็นยารสประธาน 3 รส ดังนี้

1. ยารสเย็น ได้แก่ รสของยาที่ปรุงขึ้นจากตัวยาที่มีรสเย็น เช่น ใบไม้ที่มีรสเย็น เกสรดอกไม้ที่มีรสไม่ร้อน เขี้ยวสัตว์ เขา งา นอ เป็นต้น เมื่อนำมาปรุงเป็นยาแล้ว จะได้ยารสเย็น เช่น ยาเขียว ยาจันทลีลา ยามหากาฬ ยามหานิล เป็นต้น

สำหรับแก้ในทางเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ดับพิษร้อนเป็นรสยาประจำในฤดูร้อน แสลงกับโรคลม

2. ยารสร้อน ได้แก่ รสของยาที่ปรุงขึ้นจากตัวยาที่มีรสร้อน เช่น เบญจกูล กะเพรา หัสคุณ เป็นต้น เมื่อนำมาปรุงเป็นยาแล้ว จะได้ยารสร้อน เช่น ยาสัณฑฆาต ยาประสะกานพลู ยาไฟประลัยกัลป์ ยาประจุวาโย เป็นต้น

สำหรับแก้ในทาง วาโยธาตุ (ธาตุลม) แก้ลมกองหยาบ ลมจุกเสียดแน่น แก้ล้มพรรดึก บำรุงธาตุ เป็นรสยาประจำในฤดูฝน แสลงกับไข้ที่มีพิษร้อน

3. ยารสสุขุม ได้แก่ รสของยาที่ปรุงขึ้นจากตัวยาที่มีรสสุขุม เช่น โกฐต่าง ๆ เทียนต่าง ๆ กฤษณา เกสรทั้ง 5 ชะลูด เป็นต้น เมื่อนำมาปรุงเป็นยาแล้วจะได้ยารสสุขุม เช่น ยาหอมเนาวโกฐ ยาหอมอินทรจักร ยาสังข์วิชัย เป็นต้น

สำหรับ แก้ในทางอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เสมหะและโลหิต แก้ลมกองละเอียด เป็นรสยาประจำในฤดูหนาวแสลงกับไข้ที่มีพิษร้อนจัด

วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กลุ่มพืช หอม เป็นยาบำรุงหัวใจ5

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ

พิกุล


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mimusops elengi L.

ชื่อ สามัญ : Bullet wood

วงศ์ : SAPOTACEAE

ชื่อ อื่น : พิกุลเขา กุล แก้ว ซางดง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 8-15 ม. เรือนยอดแน่นทึบ เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา มีรอยแตกระแหงตามแนวยาว ใบ เป็นใบเดี่ยว เกิดเรียงกันแบบสลับ ลักษณะใบมนเป็นรูปไข่ หรือรูปไข่แกมหอก มีขนาดกว้าง 2-5 ซม. ยาว 5-10 ซม. โคนใบสอบมอน ปลายใบเรียวหรือหยักเป็นติ่ง ดอกเกิดเป็นกระจุกตามง่ามใบและตามยอด มีสีขาวปนเหลือง กลีบรองดอกมี 8 กลีบ เรียงเป็น 2 วง ๆ ละ 8 แฉก ดอกบานมีกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี ผลรูปไข่กลมถึงรี ภายในมีเมล็ดเดียว
ส่วนที่ใช้ : ดอก เปลือก เมล็ด แก่นที่ราก ใบ

สรรพคุณ :

  • ดอกสด - เข้ายาหอม ทำเครื่องสำอาง แก้ท้องเสีย
  • ดอกแห้ง - เป็นยาบำรุงหัวใจ ปวดหัว เจ็บคอ ขับเสมหะ
  • ผลสุก - รับประทานแก้ปวดศีรษะและแก้โรคในลำคอและปาก
  • เปลือก - ยาอมกลั้วคอ ล้างปาก แก้เหงือกบวม รำมะนาด
  • เมล็ด - ตำแล้วใส่ทวารเด็ก แก้โรคท้องผูก
  • ใบ - ฆ่าพยาธิ
  • แก่นที่ราก - เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ขับลม
  • กระพี้ - แก้เกลื้อน

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ

มะลิลา


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jasminum Sambac (L.) Aiton

ชื่อ สามัญ : Arabian jasmine

วงศ์ : OLEACEAE

ชื่อ อื่น : มะลิ, มะลิลา (ทั่วไป), มะลิซ้อน (ภาคกลาง), มะลิขี้ไก่ (เชียงใหม่), มะลิหลวง (แม่ฮ่องสอน), มะลิป้อม (ภาคเหนือ), ข้าวแตก (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), เตียมูน (ละว้า-เชียงใหม่)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้พุ่ม บางพันธุ์เป็นไม้รอเลื้อย สูง 0.3-3 เมตร ใบเรียงตรงข้าม เป็นใบประกอบชนิดที่มีใบย่อย ใบเดี่ยว รูปไข่ กว้าง 3-6 ซม. ยาว 5-10 ซม. ดอกดอกเป็นช่อเล็ก ๆ มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน ดอกสีขาว โคนดอกติดกันเป็นหลอด สีเขียวอมเหลือง ดอกกลางบานก่อน กลีบเลี้ยงแยกเป็นส่วน 7-10 ส่วน มีขนละเอียด ยาว 2 1/2-7 ซม. โคนกลีบดอกเชื่อมเป็นหลอด ยาว 7-15 มม. ส่วนปลายแยกเป็นส่วนรูปไข่ แกมรี สีขาว อาจมีสีม่วงด้านนอกหรือเมื่อดอกร่วงยาว 8-15 มม. ดอกอาจซ้อนหรือลา ผลสด (berry) สีดำ แต่ยังไม่พบใน กทม. ดอกมีกลิ่น หอม ออกดอกตลอดปี แต่ดอกมีน้อยในฤดูหนาว
ส่วนที่ใช้ : ใบ ราก ดอกแก่

สรรพคุณ :

  • ใบ, ราก - ทำยาหยอดตา
  • ดอกแก่ - เข้ายาหอม แก้หืด บำรุงหัวใจ
  • ราก - ฝนรับประทาน แก้ร้อนใน, เสียดท้อง รักษาหลอดลมอักเสบ ขับประจำเดือน
  • ใบ - ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำมะพร้าวใหม่ๆ นำไปลนไฟ ทารักษาแผล ฝีพุพอง แก้ไข้ ขับน้ำนม

วิธีใช้ : ใช้ดอกแห้ง 1.5 - 3 กรัม ต้มน้ำหรือชงน้ำร้อนดื่ม
สารเคมี :

  • ดอก พบ benzyl alcohol, benzyl alcohol ester, jasmone, linalool, linalol ester
  • ใบ พบ jasminin sambacin

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ

สารภี


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mammea siamensis Kosterm.
ชื่อพ้อง
: Ochrocarpus siamensis T.Anders

วงศ์ : GUTTIFERAE

ชื่อ อื่น : สร้อยภี (ภาคใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 12-20 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นตรง ขรุขระเล็กน้อย เปลือกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ผิวเปลือกมีสีน้ำตาล แตกกิ่งแน่น ปลายกิ่งมักห้อยลงลำต้นและกิ่งมียางสีเหลืองหรือขาว ใบรูปไข่ปลายมนกว้าง บางทีปลายใบเว้าลงเล็กน้อย ใบแตกออกเป็นคู่ตรงข้ามกันที่บริเวณกิ่ง โคนใบสอบเรียวแหลมถึงก้านใบ เนื้อใบหนาเกลี้ยงสีเขียว ขนาดความกว้างของใบประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9-12 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อเดี่ยว ตามกิ่ง มีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีขาวกลิ่นหอม ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้เส้นเล็ก ๆ เป็นวง มีสีเหลือง ขนาดดอกกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ผลกลมเป็นรูปกระปุกเล็ก ผิวเรียบสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลือง เนื้อในมีรสหวาน ขนาดผลยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร
ส่วนที่ใช้ : ดอก ผลสุก

สรรพคุณ :

  • ดอกสดและแห้ง - ใช้เข้ายาหอม บำรุงหัวใจ
  • ดอกตูม - ย้อมผ้าไหม ให้สีแดง
  • ผลสุก - รับ ประทานได้ มีรสหวาน เป็นยาบำรุงหัวใจ ขยายหลอดโลหิต