วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการปรุงยาไทย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการปรุงยาไทย

ข้อควรเข้าใจโดยทั่วไป

1.

ถ้าไม่ได้บอกว่าใช้สดหรือแห้ง ให้ถือว่าใช้สด
2.

เวลาใช้ภายใน ถ้าไม่ได้ระบุวิธีใช้แล้ว ให้เข้าใจว่าใช้วิธีต้ม
3.

เวลาใช้ภายนอก ถ้าไม่ได้ระบุวิธีใช้แล้ว ให้เข้าใจว่าใช้ตำพอก
4.

ยากินหรือรับประทาน ให้กินหรือรับประทานวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร
5.

ยาต้ม ใช้ครั้งละ 1/2 - 1 แก้ว (250 ซี.ซี.)
ยาดอง, ยาคั้นเอาน้ำ ใช้ครั้งละ 1/2 - 1 ช้อนโต๊ะ
ยาผง ใช้ครั้งละ 1-2 ช้อนชา
ยาปั้น, ลูกกลอน ใช้ครั้งละ 1-2 เม็ด (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม.)
ยาชง ใช้ครั้งละ 1 แก้ว

วิธีปรุงยาไทย

1.

ยาต้ม
การเตรียม ปริมาณที่ใช้โดยทั่วไปใช้ 1 กำมือ คือเอาต้นยามาขดมัดรอบกันเป็นท่อนกลม ยาวขนาด 1 ฝ่ามือ กว้างขนาดใช้มือกำได้โดยรอบพอดี ถ้าต้นยานั้นแข็งนำมาขดมัดไม่ได้ ให้หั่นเป็นท่อน ยาวขนาด 5-6 นิ้วฟุต กว้าง 1/2 นิ้วฟุต แล้วเอามารวมกันให้ได้ขนาด 1 กำมือ
การต้ม เทน้ำลงไปพอให้น้ำท่วมยาเล็กน้อย (ประมาณ 3-4 แก้ว) ถ้าปริมาณยาที่ระบุไว้น้อยมาก เช่น ใช้เพียง 1 หยิบมือ ให้เทน้ำลงไป 1 แก้ว (250 ซี.ซี) ต้มให้เดือดนาน 10-30 นาที แล้วแต่ว่าต้องการเข้มข้นหรือเจือจาง รับประทานในขณะที่ยายังอุ่นๆ
2.

ยาชง
การเตรียม ปกติใช้ยมแห้งชง โดยหั่นต้นยาสดให้เป็นชิ้นเล็กๆ บางๆ ตากแดดให้แห้ง ถ้าต้องการให้ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว ให้เอาไปคั่วเสียก่อน จะมีกลิ่นหอม
การชง ใช้สมุนไพร 1 ส่วน เติมน้ำเดือดลงไป 10 ส่วน ปิดฝาตั้งทิ้งไว้ 15-20 นาที
3.

ยาดอง
การเตรียม ปกติยาแห้งดอง โดยบดต้นสมุนไพรให้แหลกพอหยาบๆ ห่อด้วยผ้าขาวบาง ห่อหลวมๆ เผื่อยาพองตัวเวลาอมน้ำ
การดอง เติมเหล้าให้ท่วมห่อผ้ายา ตั้งทิ้งไว้ 7 วัน
4.

ยาปั้นลูกกลอน
การเตรียม หั่นต้นสมุนไพรสดให้เป็นแว่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงในขณะที่ยังร้อน (เพราะแดด) อยู่ เพราะยาจะกรอบบดง่าย
การปั้นยา ใช้ผงยา 2 ส่วน ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม 1 ส่วน ตั้งทิ้งไว้ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ปั้นยาได้ง่าย ไม่ติดมือ ปั้นเป็นลูกกลมๆ เล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ปั้นเสร็จผึ่งแดดจนแห้ง จากนั้นอีก 2 อาทิตย์ นำมาผึ่งแดดอีกที กันเชื้อราขึ้นยา
5.

ตำคั้นเอาน้ำกินหรือดื่ม
โดยเอาต้นสมุนไพรสดๆ ตำให้ละเอียดจนเหลว ถ้าไม่มีน้ำให้เติมน้ำลงไปจนเหลว คั้นเอาน้ำยาที่ได้กิน ยาบางอย่าง เช่น กระทือ กระชาย ให้นำไปเผาให้สุกเสียก่อน จึงค่อยตำ
6.

ยาพอก
การเตรียมยา ใช้ต้นสมุนไพรสดตำให้แหลกที่สุด แต่อย่าตำจนยาเหลว ตำพอให้ยาเปียกๆ ก็พอ ถ้ายาแห้งให้เติมน้ำหรือเหล้าลงไป
การพอก พอกแล้วต้องคอยหยอดน้ำให้ยาเปียกชื้นอยู่เสมอ เปลี่ยนยาวันละ 3 ครั้ง

ข้อ ควรรู้ทั่วไปในการใช้ยาสมุนไพร

ข้อ ควรรู้ทั่วไปในการใช้ยาสมุนไพร

1.

กลุ่มอาการ / โรคที่แนะนำให้ใช้สมุนไพร
ปัจจุบันการใช้สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน ส่งเสริมและเผยแพร่การใช้สมุนไพรตัวเดียวเพื่อรักษาโรค / อาการเบื้องต้นที่พบบ่อยๆ และเนื่องจากสมุนไพรหลายชนิดเป็นพืชผักที่รับประทานอยู่เป็นประจำ จึงแนะนำไว้ในการส่งเสริมสุขภาพด้วย (รวมทั้งสีผสมอาหารที่อยู่ตามธรรมชาติ)
กลุ่มโรค/อาการเบื้องต้นที่แนะนำให้ใช้สมุนไพรมี 18 โรค ดังนี้
- อาการท้องผูก
- อาการท้องอึดอัด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด
- อาการท้องเสีย (แบบไม่รุนแรง)
- พยาธิลำไส้
- บิด
- อาการคลื่นไส้ อาเจียน (เหตุจากธาตุไม่ปกติ)
- อาการไอ ขับเสมหะ
- อาการไข้
- อาการขัดเบา (คือปัสสาวะไม่สะดวก กะปริบกะปรอยแต่ไม่มีอาการบวม)
- โรคกลาก
- โรคเกลื้อน
- อาการนอนไม่หลับ
- ฝี แผลพุพอง (ภายนอก)
- อาการเคล็ดขัดยอก (ภายนอก)
- อาการแพ้ อักเสบ แมลงสัตว์กัดต่อย (ภายนอก)
- แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ภายนอก)
- เหา
- ชันนะตุ
หากเป็นโรค/ อาการเหล่านี้ให้ใช้สมุนไพรที่แนะนำ และหยุดใช้เมื่อหายไป แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรไปปรึกษาศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาล
ถ้าผู้ป่วยมีอาการโรค/ อาการดังกล่าว แต่เป็นอาการที่รุนแรง ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ไม่ควรรักษาด้วยการซื้อยารับประทานเองหรือใช้สมุนไพร อาการที่รุนแรงมีดังนี้
1. ไข้สูง (ตัวร้อนจัด) ตาแดง ปวดเมื่อยมาก ซึม บางทีพูดเพ้อ (อาจเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไข้ป่าชนิดขึ้นสมอง)
2. ไข้สูงและดีซ่าน (ตัวเหลือง) อ่อนเพลียมาก อาจเจ็บในแถวชายโครง อาจเป็นโรคตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ฯลฯ
3. ปวดแถวสะดือ เวลาเอามือกดเจ็บปวดมากขึ้น หน้าท้องแข็ง อาจท้องผูกและมีไข้เล็กน้อยหรือมาก (อาจเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบอย่างแรง หรือลำไส้ส่วนอื่นอักเสบ)
4. เจ็บแปลบในท้องคล้ายมีอะไรฉีกขาด ปวดท้องรุนแรงมาก อาจมีตัวร้อนและคลื่นไส้อาเจียนด้วย บางทีมีประวัติปวดท้องบ่อยๆ มาก่อน (อาจมีการะลุของกระเพาะอาหารหรือลำไส้)
5. อาเจียนเป็นโลหิต หรือไอเป็นโลหิต (อาจเป็นโรคร้ายแรงของกระเพาะอาหารหรือปอด) ต้องให้คนไข้นอนพักนิ่งๆ ก่อน ถ้าแพทย์อยู่ใกล้ควรเชิญมาตรวจที่บ้าน ถ้าจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์ ควรรอให้เลือดหยุดเสียก่อน และควรพาไปโดยมีการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด
6. ท้องเดินอย่างแรง อุจจาระเป็นน้ำ บางทีมีลักษณะคล้ายน้ำซาวข้าว บางทีถ่ายพุ่ง ถ่ายติดต่อกันอย่างรวดเร็ว คนไข้อ่อนเพลียมาก ตาลึก หนังแห้ง (อาจเป็นอหิวาตกโรค) ต้องพาไปพบแพทย์โดยด่วน ถ้าไปไม่ไหวต้องแจ้งแพทย์หรืออนามัยที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว
7. ถ่ายอุจจาระเป็นมูกและเลือด บางทีเกือบไม่มีเนื้ออุจจาระเลย ถ่ายบ่อยมาก อาจจะตั้งสิบครั้งในหนึ่งชั่วโมง คนไข้เพลียมาก (อาจเป็นโรคบิดอย่างรุนแรง)
8. สำหรับเด็ก โดยเฉพาะอายุภายในสิบสองปี ไข้สูง ไอมาก หายใจมีเสียงผิดปกติ คล้ายๆ กับมีอะไรติดอยู่ในคอ บางทีก็มีอาการหน้าเขียวด้วย (อาจเป็นโรคคอตีบ) ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด
9. อาการตกเลือดเป็นเลือดสดๆ จากทางไหนก็ตาม โดยเฉพาะทางช่องคลอด ต้องพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
2.

กลุ่มอาการ / โรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพร
เป็นโรคร้ายแรง โรคเรื้อรัง หรือโรคที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่ารักษาด้วยสมุนไพรได้ เช่น งูพิษกัด สุนัขบ้ากัด บาดทะยัก กระดูกหัก มะเร็ง วัณโรค กามโรค ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเรือน ดีซ่าน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดบวม (ปอดอักเสบ) อาการบวม ไทยฟอยด์ โรคตาทุกชนิด

3.

ข้อแนะนำในการใช้สมุนไพร
1. ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรมีชื่อพ้องหรือซ้ำกันมาก และบางท้องถิ่นก็เรียกไม่เหมือนกัน จึงต้องรู้จักสมุนไพรและใช้ให้ถูกต้น
2. ใช้ให้ถูกส่วน ต้นสมุนไพรไม่ว่าจะเป็นราก ใบ ดอก เปลือก ผล เมล็ด จะมีฤทธิ์ไม่เท่ากัน บางทีผลแก่ ผลอ่อน มีฤทธิ์ต่างกันด้วย จะต้องรู้ว่าส่วนใดใช้เป็นยาได้
3. ใช้ให้ถูกขนาด สมุนไพรถ้าใช้น้อยไป ก็รักษาไม่ได้ผล แต่ถ้ามากไปก็อาจเป็นอันตราย หรือเกิดพิษต่อร่างกายได้
4. ใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรบางชนิดต้องใช้สด บางชนิดต้องปนกับเหล้า บางชนิดใช้ต้ม จะต้องรู้วิธีใช้ให้ถูกต้อง
5. ใช้ให้ถูกกับโรค เช่น ท้องผูก ต้องใช้ยาระบาย ถ้าใช้ยาที่มีฤทธิ์ฝาดสมานก็จะทำให้ท้องผูกยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ยังต้องระมัดระวังในเรื่องความสะอาดในการเก็บยา การเตรียมยา และเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำยาจะต้องสะอาดด้วย มิฉะนั้นอาจเกิดโรคอื่นติดตามมา

4.

อาการแพ้ที่เกิดจากสมุนไพร
สมุนไพร มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับยาทั่วไป คือมีทั้งคุณและโทษ บางคนใช้แล้วเกิดอาการแพ้ได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อย เพราะสมุนไพรมิใช่สารเคมีชนิดเดียวเช่นยาแผนปัจจุบัน ฤทธิ์จึงไม่รุนแรง (ยกเว้นพวกพืชพิษบางชนิด) แต่ถ้าเกิดอาการแพ้ขึ้นควรหยุดยาเสียก่อน ถ้าหยุดแล้ว อาการหายไป อาจทดลองใช้ยาอีกครั้งโดยระมัดระวัง ถ้าอาการเช่นเดิมเกิดขึ้นอีก แสดงว่าเป็นพิษของยาสมุนไพรแน่ ควรหยุดยาและเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น หรือถ้าอาการแพ้รุนแรง ควรไปรับการรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาล

อาการที่เกิดจากการแพ้สมุนไพร มีดังนี้
1. ผื่นขึ้นตามผิวหนัง อาจเป็นตุ่มเล็กๆ ตุ่มโตๆ เป็นปื้นหรือเป็นเม็ดแบบคล้ายลมพิษ อาจบวมที่ตา (ตาปิด) หรือริมฝีปาก (ปากเจ่อ) หรือมีเพียงดวงสีแดงที่ผิวหนัง
2. เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน (หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง) ถ้ามีอยู่ก่อนกินยา อาจเป็นเพราะโรค
3. หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้น ชาที่ผิวหนัง
4. ประสาทความรู้สึกทำงานไวเกินปกติ เช่น เพียงแต่แตะผิวหนังก็รู้สึกเจ็บ ลูบผมก็แสบหนังศีรษะ ฯลฯ
5. ใจสั่น ใจเต้น หรือรู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น และเป็นบ่อยๆ
6. ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลือง เขย่าเกิดฟองสีเหลือง (เป็นอาการของดีซ่าน) อาการนี้แสดงถึงอันตรายร้ายแรง ต้องรีบไปพบแพทย์

สิ่งน่ารู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพร

สิ่งน่ารู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพร


1.

ควรเริ่มใช้สมุนไพรที่เป็นอาหารก่อน และควรรู้พิษยาก่อนใช้ รู้ข้อห้ามใช้ เพราะยาบางชนิดมีข้อห้ามใช้กับคนบางคน บางโรค เมื่อรู้สิ่งเหล่านี้ จะทำให้การใช้ยาปลอดภัยขึ้น
2.

ถ้ายาใดไม่เคยกินมาก่อน ควรเริ่มกินในขนาดน้อยๆ ก่อน เช่น กินเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดที่กำหนดไว้ ถ้าร่างกายไม่มีอะไรผิดปกติจึงค่อยกินต่อไป
3.

อย่าใช้ยาเข้มข้นเกินไป เช่น ยาใช้ต้มกินต่างน้ำ ไม่ควรใช้ต้มเคี่ยวกินยาเข้มข้นเกินไป จนทำให้เกิดพิษได้
4.

คนที่อ่อนเพลียมาก เด็กอ่อน คนชรา ห้ามใช้ยามาก เพราะคนเหล่านี้ มีกำลังต้านทานยาน้อย จะทำให้เกิดพิษได้ง่าย
5.

โดยทั่วๆ ไป เมื่อกินยาสมุนไพรแล้ว 1 วัน อาการไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนยา แต่ถ้าเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคกระเพาะ หืด ฯลฯ เมื่อใช้ยาสมุนไพร 1 อาทิตย์แล้ว อาการไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนยา

การปลูกและบำรุงรักษาพืชสมุนไพร

การปลูกและบำรุงรักษาพืชสมุนไพร
หลักการทั่วไปของการปลูกและบำรุงรักษาพืชทั่วไปและพืชสมุนไพร ไม่แตกต่างกัน แต่ความอุดมสมบูรณ์ของพืชสมุนไพร จะเป็นเครื่องชี้บอกคุณภาพของสมุนไพรได้ พืชสมุนไพรต้องการการปลูกและบำรุงรักษาใกล้เคียงกับลักษณะธรราชาติของพืช สมุนไพรนั้นมากที่สุด เช่น ว่านหางจระเข้ ต้องการดินปนทราย และอุดมสมบูรณ์ แดดพอเหมาะ หรือต้นเหงือกปลาหมอชอบขึ้นในที่ดินเป็นเลน และที่ดินกร่อยชุ่มชื้นเป็นต้น หากผู้ปลูกสมุนไพรเข้าใจสิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถเลือกวิธีปลูกและจัดสภาพ แวดล้อมของต้นไม้ได้เหมาะกับพืชสมุนไพร ก็จะเจริญเติบโตได้ เป็นผลทำให้คุณภาพพืชสมุนไพรที่นำมารักษาโรคมีฤทธิ์ดีขึ้นด้วย
การปลูกและการบำรุงรักษาพืชสมุนไพร โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ไม่จริงจังเท่าที่ควร บางประเทศได้ทดลองเพื่อหาคำตอบว่า สภาพแวดล้อมอย่างไรจึงจะทำให้สาระสำคัญในพืชสมุนไพรชนิดนั้นๆ มากที่สุด ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน หรือการหาคำตอบว่าวิธีการขยายพันธุ์พืชสมุนไพรแต่ละชนิด จะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมและประหยัดมากที่สุด ในประเทศไทย หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีงานวิจัยด้านนี้อยู่บ้างและกำลังค้นคว้า ต่อไป
การปลูก เป็นการนำเอาส่วนของพืช เช่น เมล็ด กิ่ง หัว ผ่านการเพาะหรือการชำ หรือวิธีการอื่นๆ ใส่ลงในดิน หรือวัสดุอื่นเพื่องอกหรือเจริญเติบโตต่อไป การปลูกทำได้หลายวิธีคือ
1. การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง วิธีนี้ไม่ต้องเพาะเป็นต้นกล้าก่อน นำเมล็ดมาหว่านลงแปลงได้เลย หลังจากนั้นใช้ดินร่วนหรือทรายหยาบโรยทับบางๆ รดน้ำให้ชื้นตลอดทุกวัน เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนจึงถอนต้นที่อ่อนแอออกเพื่อให้มีระยะห่างตามสมควร ปกติมักใช้ในการปลูกผักหรือพืชล้มลุกและพืชอายุสั้น เช่น กะเพรา โหระพา ส่วนการหยอดลงหลุมโดยตรงมักใช้กับพืชที่มีเมล็ดใหญ่ เช่น ฟักทอง ละหุ่ง โดยหยอดในแต่ละหลุมมากว่าจำนวนต้อนที่ต้องการ แล้วถอนออกภายหลัง
2. การปลูกด้วยต้นกล้าหรือกิ่งชำ ปลูกโดยการนำเมล็ด หรือกิ่งชำปลูกให้แข็งแรงดีในถุงพลาสติกหรือในกระถาง แล้วย้ายปลูกในพื้นที่ที่ต้องการ การย้ายต้นอ่อนจากภาชนะเดิมไปยังพื้นที่ที่ต้องการ ต้องไม่ทำลายราก ถ้าเป็นถุงพลาสติกก็ใช้มีดกรีดถุงออก ถ้าเป็นกระถาง ถอดกระถางออกโดยใช้มือดันรูกลมที่ก้นกระถาง ถ้าดินแน่นมาก ให้ใช้เสียมเซาะดินแล้วใช้น้ำหล่อก่อน จะทำให้ถอนง่ายขึ้น หลุมที่เตรียมปลูกควรกว้างกว่ากระถางหรือถุงพลาสติกเล็กน้อย จึงทำให้ต้นอ่อนเจริญเติบโตได้สะดวก วางต้นไม้ให้ระดับรอยต่อระหว่างลำต้นกับรากอยู่เสมอกับระดับของขอบหลุมพอดี แล้วกลบด้วยดินร่วนซุย หรือดินร่วมปนทราย กดดินให้แน่นพอประมาณ นำเศษไม้ใบหญ้ามาคลุมไว้รอบโคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและป้องกันแรงกระแทกเวลารดน้ำ หาไม้หลัก ซึ่งสูงมากกว่าต้นไม้มาปักไว้ข้างๆ ผูกเชือกยึดกับต้นไม้ คอยพยุงมให้ต้นไม้ล้มหรือโยกคลอนได้ ปกติใช้กับต้นไม้ยืนต้น เช่น คูน แคบ้าน ชุมเห็ดเทศ สะแก ขี้เหล็ก เป็นต้น หรือใช้กับพันธุ์ไม้ที่งอกยากหรือมีราคาแพง จึงจำเป็นต้องเพาะเมล็ดก่อน
3. การปลูกด้วยหัว ปกติจะมีหัวที่เกิดจากราก และลำต้น เรียกชื่อแตกต่างกัน ในที่นี้จะรวมเรียกเป็นหัวหมด โดยไม่แยกรายละเอียดไว้ สำหรับการปลูกไม้ประเภทหัว ควรปลูกในที่ระบายน้ำได้ดี มิฉะนั้นจะเน่าได้ การปลูกโดยการฝังหัวให้ลึกพอประมาณ (ปกติลึกไม่เกิน 3 เท่าของความกว้างหัว) กดดินให้แน่นพอสมควร คลุมแปลงปลูกด้วยฟาง หรือหญ้าแห้ง เช่น การปลูกหอม กระเทียม
4. การปลูกด้วยหน่อหรือเหง้า ปลูกโดยอาศัยหน่อหรือเหง้า อ่านรายละเอียดในการขยายพันธุ์พืชสมุนไพร ข้อ 2.1
5. การปลูกด้วยไหล ปกตินิยมเอาส่วนของไหลมาชำไว้ก่อน จะย้ายปลูกในพื้นที่ที่เตรียมไว้อีกครั้งหนึ่ง เช่น บัวบก แห้วหมู
6. การปลูกด้วยจุก หรือตะเกียง โดยการนำจุกหรือตะเกียงมาชำในดินที่เตรียมไว้ โดยใช้ตะเกียงตั้งขึ้นตามปกติ กลบดินเฉพาะด้านล่าง เช่น สับประรด
7. การปลูกด้วยใบ เหมาะสำหรับพืชที่มีใบหนาใหญ่ และแข็งแรง คล้ายกับการปลูกด้วยส่วนของกิ่งและลำต้น คือการตัดใบไปปักหรือวางบนดินที่ชุ่มชื้นให้เกิดต้นใหม่ เช่น ว่านลิ้นมังกร
8. การปลูกด้วยราก โดยตัดส่วนของรากไปปักชำให้เกิดต้นใหม่ขึ้น เช่น ดีปลี เป็นต้น
การบำรุงรักษา เป็นการกระทำให้พันธุ์ไม้ที่ปลูกไว้เจริญงอกงามต่อไป ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องต่อไปนี้
1. การพรางแสง พันธุ์ไม้ต้องการแสงน้อยหรือพันธุ์ไม้ที่ยังอ่อนแออยู่ ควรจะได้มีการพรางแสง หากต้องปลูกพืชดังกล่าวในที่โล่งเกินไป การพรางแสงปกติจะทำชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนพืชนั้นตั้งตัวได้ แต่ถ้าเป็นพืชที่ต้องการแสงน้อย ก็ต้องมีการพรางแสงไว้ตลอดเวลา หรือปลูกใต้ต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้จะเหมาะสมกว่า
2. การให้น้ำ ปกติการปลูกควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพราะจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการให้น้ำ สำหรับการให้น้ำจะต้องพิจารณาลักษณะของพืชแต่ละชนิดประกอบด้วยว่า ต้องการน้ำมากหรือน้อย จึงจำเป็นต้องศึกษาลักษณะของพันธุ์ไม้ที่ปลูกบ้างตามสมควร แต่โดยหลักการแล้ว เมื่อปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ ก็ควรจะให้น้ำให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ปกติให้น้ำอย่างน้อยวันละครั้ง แต่หากพิจาณาเห็นว่าแฉะเกินไปก็เว้นช่วงได้ หรือหากแห้งเกินไปก็ต้องให้น้ำเพิ่มเติม คือต้องคอยสังเกตด้วย ทั้งนี้เพราะแต่ละท้องที่จะมีสภาพดินและอากาศแตกต่างกัน ส่วนการให้น้ำก็ต้องให้จนกว่าพืชจะตั้งตัวได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับพืชแต่ละชนิด แต่ก็พอสังเกตจากลักษณะของพืชนั้นได้ หากแสดงลักษณะเหี่ยวเฉาก็แสดงว่ายังตั้งตัวไม่ได้
3. การระบายน้ำ จะต้องหาวิธีการที่จะต้องระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้ ถ้าฝนตกน้ำท่วม โคนพืชที่ปลูกไว้ เพราะจะเป็นอันตรายต่อระบบรากของพืชได้ ทั้งนี้อาจทำโดยการยกร่องปลูก หรือพูนดินให้สูงขึ้นก่อนปลูก ก็จะช่วยแก้ปัญหาน้ำขังได้ถ้ามีปัญหา
4. การพรวนดิน จะช่วยทำให้ดินร่วนซุยเก็บความชื้นดี การระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศเป็นไปได้ดี อีกทั้งเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วย จึงควรมีการพรวนดินให้พืชที่ปลูกบ้างเป็นครั้งคราว แต่พยายามอย่าให้กระทบกระเทือนรากมากนัก และควรพรวนในขณะที่ดินแห้งพอควร
5. การให้ปุ๋ย ปกติจะให้ก่อนปลูกอยู่แล้ว โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (สูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ) รองก้นหลุม แต่เนื่องจากมีการสูญเสียไปและพืชนำไปใช้ด้วย จึงจำเป็นต้องใส่เพิ่มเติมโดยอาจจะใส่ก่อนฤดูฝน 1 ครั้ง และใส่หลังฤดูฝน 1 ครั้ง ซึ่งอาจใส่แบบเป็นแถวระหว่างพืชหรือหว่านทั่วแปลง หรือใส่รอบๆ โคนต้น บริเวณของทรงพุ่ม หรือใช้ปุ๋ยเกล็ดผสมน้ำฉีดให้ทางใบ
การบำรุงรักษาพืชสมุนไพรควรหลีกเลี่ยงสารเคมี ไม่ว่าด้านการให้ปุ๋ยหรือการกำจัดวัชพืช ศัตรูพืช เนื่องจากสารเคมีอาจมีผลทำให้ปริมาณสาระสำคัญในสมุนไพรเปลี่ยนแปลง หรืออาจมีพิษตกค้าง เป็นอันตรายต่อการใช้สมุนไพร ควรจะเลือกวิธีดูแลรักษาให้เป็นไปตามธรรมชาติให้มากที่สุด

สรรพคุณเภสัช รสยา 4

สรรพคุณเภสัช
คือ การรู้จักสรรพคุณของวัตถุธาตุนานาชนิด อันได้แก่ พืช สัตว์ และธาตุ ที่จะนำมาใช้ปรุงเป็นยาสำหรับรักษาโรคหรือแก้ไข้ โดยจะต้องรู้จักรสของยา เมื่อรู้จักรสของยาแล้ว รสของยานั้นจะบอกถึงสรรพคุณของยา

รสของยา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ รสของยาที่ปรุงสำเร็จแล้ว เรียกว่า รสประธาน มี 3 รส และรสของเครื่องยาแต่ละชนิด ซึ่งโบราณาจารย์ได้แบ่งออกเป็นหลายแบบ เช่น ยา 4 รส ยา 6รส ยา 8 รส และยา 9รส หลักการแพทย์แผนไทยนิยมใช้รสยา 9 รสเป็นหลัก




รสยา 4 รส (ตามคัมภีร์ธาตุวิภังค์)

1. ยารสฝาด ซาบไปตามผิวเนื้อ เอ็น และเส้น

2. ยารสเผ็ด ซาบไปในผิวหนังทุกเส้นขน

3. ยารสเค็ม ซาบไปทุกเส้นเอ็นและกระดูกทั่วสรรพางค์กาย

4. ยารสเปรี้ยว ซาบไปในเส้นเอ็นทั่วสรรพางค์กาย



ยา 6 รส (ตามคัมภึร์วรโยคสาร)

1. มธุระ รสหวาน ชอบ กับตา เจริญรสธาตุ

2. อัมพิละ รสเปรี้ยว ทำให้ลม ดี เสลด อนุโลมตามซึ่งตน เจริญรสอาหาร กระทำสารพัดดิบให้สุก ถ้าใช้เป็นเกิดคุณ ใช้ไม่เป็นเกิดโทษ

3. กฎุก รสเผ็ดร้อน ทำให้กำลังน้อย ระงับความเกียจคร้าน ระงับพิษมิให้เจริญ บำรุงไฟธาตุ ทำให้อาหารสุก

4. ลวณะ รสเค็ม เผาโทษ เผาเขฬะ ให้เจริญไฟธาตุ

5. ติดติกะ รสขม เจริญไฟธาตุ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ทำให้มูตรและคูถบริสุทธิ์เจริญรสอาหาร

6. กาสะวะ รสฝาด เจริญไฟธาตุ เจริญผิวกายและเนื้อ แก้กระหายน้ำ

รสทั้ง 6 ทำให้เกิดโทษได้ดังนี้

1. รสเผ็ด รสขม รสฝาด ทำให้ลมกำเริบ

2. รสเผ็ด รสเปรี้ยว รสเค็ม ทำให้ดีกำเริบ

3. รสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม ทำให้เสลดกำเริบ

ยา 8 รส (ตามคัมภีร์ธาตุวิวร)

1. รสฝาด ซาบมังสา

2. รสขม ซาบตามผิวหนัง

3. รสเค็ม ซาบตามเส้นเอ็น

4. รสเผ็ดร้อน ซาบกระดูก

5. รสหวาน ซาบลำไส้ใหญ่

6. รสเปรี้ยว ซาบลำไส้น้อย

7. รสหอมเย็น ซาบหัวใจ

8. รสมัน ซาบข้อต่อทั้งปวง



รสยา 9 รส

เป็นรสของเครื่องยา คือตัวยาสมุนไพรแต่ละชนิดที่จะนำมาปรุงเป็นยา รสของเครื่องยาที่นิยมใช้เป็นหลักในประเทศไทย มี 9 รส และ รสจืดอีก 1 รส รวมเป็น 10 รส แต่คณาจารย์ก็ยังนิยมเรียกว่ารสยา 9 รสอยู่เช่นเดิม มีดังนี้

1. ยารสฝาดชอบสมาน

2. ยารสหวานซึมซาบไปตามเนื้อ

3. ยารสเมาเบื่อ แก้พิษ

4. ยารสขมแก้ทางดีและโลหิต

5. ยารสเผ็ดร้อนแก้ลม

6. ยารสมันแก้เส้นเอ็น

7. ยารสหอมเย็น บำรุงหัวใจ

8. ยารสเค็มซึมซาบไปตามผิวหนัง

9. ยารสเปรี้ยวกัดเสมหะ

ในตำรา เวชศึกษาจัดรสยาเพิ่มอีก 1 รส คือ ยารสจืด ใช้สำหรับ แก้ในทางเตโช ขับปัสสาวะ ดับพิษร้อน แก้ไข้

สรรพคุณเภสัช

ยารสประธาน 3 รส

ยารสประธาน เป็นรสหลักและเป็นรสของยาที่ปรุงหรือปสมเป็นตำรับแล้วประกอบขึ้นจากเครื่อง ยาที่ได้มาจากเภสัชวัตถุ อันมี พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ หรือ ธาตุวัตถุ เมื่อนำมาปรุงเป็นยาแล้ว จึงรวมรสของเครื่องยา แยกเป็นยารสประธาน 3 รส ดังนี้

1. ยารสเย็น ได้แก่ รสของยาที่ปรุงขึ้นจากตัวยาที่มีรสเย็น เช่น ใบไม้ที่มีรสเย็น เกสรดอกไม้ที่มีรสไม่ร้อน เขี้ยวสัตว์ เขา งา นอ เป็นต้น เมื่อนำมาปรุงเป็นยาแล้ว จะได้ยารสเย็น เช่น ยาเขียว ยาจันทลีลา ยามหากาฬ ยามหานิล เป็นต้น

สำหรับแก้ในทางเตโชธาตุ (ธาตุไฟ) แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ดับพิษร้อนเป็นรสยาประจำในฤดูร้อน แสลงกับโรคลม

2. ยารสร้อน ได้แก่ รสของยาที่ปรุงขึ้นจากตัวยาที่มีรสร้อน เช่น เบญจกูล กะเพรา หัสคุณ เป็นต้น เมื่อนำมาปรุงเป็นยาแล้ว จะได้ยารสร้อน เช่น ยาสัณฑฆาต ยาประสะกานพลู ยาไฟประลัยกัลป์ ยาประจุวาโย เป็นต้น

สำหรับแก้ในทาง วาโยธาตุ (ธาตุลม) แก้ลมกองหยาบ ลมจุกเสียดแน่น แก้ล้มพรรดึก บำรุงธาตุ เป็นรสยาประจำในฤดูฝน แสลงกับไข้ที่มีพิษร้อน

3. ยารสสุขุม ได้แก่ รสของยาที่ปรุงขึ้นจากตัวยาที่มีรสสุขุม เช่น โกฐต่าง ๆ เทียนต่าง ๆ กฤษณา เกสรทั้ง 5 ชะลูด เป็นต้น เมื่อนำมาปรุงเป็นยาแล้วจะได้ยารสสุขุม เช่น ยาหอมเนาวโกฐ ยาหอมอินทรจักร ยาสังข์วิชัย เป็นต้น

สำหรับ แก้ในทางอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เสมหะและโลหิต แก้ลมกองละเอียด เป็นรสยาประจำในฤดูหนาวแสลงกับไข้ที่มีพิษร้อนจัด

วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กลุ่มพืช หอม เป็นยาบำรุงหัวใจ5

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ

พิกุล


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mimusops elengi L.

ชื่อ สามัญ : Bullet wood

วงศ์ : SAPOTACEAE

ชื่อ อื่น : พิกุลเขา กุล แก้ว ซางดง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 8-15 ม. เรือนยอดแน่นทึบ เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา มีรอยแตกระแหงตามแนวยาว ใบ เป็นใบเดี่ยว เกิดเรียงกันแบบสลับ ลักษณะใบมนเป็นรูปไข่ หรือรูปไข่แกมหอก มีขนาดกว้าง 2-5 ซม. ยาว 5-10 ซม. โคนใบสอบมอน ปลายใบเรียวหรือหยักเป็นติ่ง ดอกเกิดเป็นกระจุกตามง่ามใบและตามยอด มีสีขาวปนเหลือง กลีบรองดอกมี 8 กลีบ เรียงเป็น 2 วง ๆ ละ 8 แฉก ดอกบานมีกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี ผลรูปไข่กลมถึงรี ภายในมีเมล็ดเดียว
ส่วนที่ใช้ : ดอก เปลือก เมล็ด แก่นที่ราก ใบ

สรรพคุณ :

  • ดอกสด - เข้ายาหอม ทำเครื่องสำอาง แก้ท้องเสีย
  • ดอกแห้ง - เป็นยาบำรุงหัวใจ ปวดหัว เจ็บคอ ขับเสมหะ
  • ผลสุก - รับประทานแก้ปวดศีรษะและแก้โรคในลำคอและปาก
  • เปลือก - ยาอมกลั้วคอ ล้างปาก แก้เหงือกบวม รำมะนาด
  • เมล็ด - ตำแล้วใส่ทวารเด็ก แก้โรคท้องผูก
  • ใบ - ฆ่าพยาธิ
  • แก่นที่ราก - เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ขับลม
  • กระพี้ - แก้เกลื้อน

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ

มะลิลา


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jasminum Sambac (L.) Aiton

ชื่อ สามัญ : Arabian jasmine

วงศ์ : OLEACEAE

ชื่อ อื่น : มะลิ, มะลิลา (ทั่วไป), มะลิซ้อน (ภาคกลาง), มะลิขี้ไก่ (เชียงใหม่), มะลิหลวง (แม่ฮ่องสอน), มะลิป้อม (ภาคเหนือ), ข้าวแตก (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), เตียมูน (ละว้า-เชียงใหม่)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้พุ่ม บางพันธุ์เป็นไม้รอเลื้อย สูง 0.3-3 เมตร ใบเรียงตรงข้าม เป็นใบประกอบชนิดที่มีใบย่อย ใบเดี่ยว รูปไข่ กว้าง 3-6 ซม. ยาว 5-10 ซม. ดอกดอกเป็นช่อเล็ก ๆ มีทั้งดอกลาและดอกซ้อน ดอกสีขาว โคนดอกติดกันเป็นหลอด สีเขียวอมเหลือง ดอกกลางบานก่อน กลีบเลี้ยงแยกเป็นส่วน 7-10 ส่วน มีขนละเอียด ยาว 2 1/2-7 ซม. โคนกลีบดอกเชื่อมเป็นหลอด ยาว 7-15 มม. ส่วนปลายแยกเป็นส่วนรูปไข่ แกมรี สีขาว อาจมีสีม่วงด้านนอกหรือเมื่อดอกร่วงยาว 8-15 มม. ดอกอาจซ้อนหรือลา ผลสด (berry) สีดำ แต่ยังไม่พบใน กทม. ดอกมีกลิ่น หอม ออกดอกตลอดปี แต่ดอกมีน้อยในฤดูหนาว
ส่วนที่ใช้ : ใบ ราก ดอกแก่

สรรพคุณ :

  • ใบ, ราก - ทำยาหยอดตา
  • ดอกแก่ - เข้ายาหอม แก้หืด บำรุงหัวใจ
  • ราก - ฝนรับประทาน แก้ร้อนใน, เสียดท้อง รักษาหลอดลมอักเสบ ขับประจำเดือน
  • ใบ - ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำมะพร้าวใหม่ๆ นำไปลนไฟ ทารักษาแผล ฝีพุพอง แก้ไข้ ขับน้ำนม

วิธีใช้ : ใช้ดอกแห้ง 1.5 - 3 กรัม ต้มน้ำหรือชงน้ำร้อนดื่ม
สารเคมี :

  • ดอก พบ benzyl alcohol, benzyl alcohol ester, jasmone, linalool, linalol ester
  • ใบ พบ jasminin sambacin

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ

สารภี


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mammea siamensis Kosterm.
ชื่อพ้อง
: Ochrocarpus siamensis T.Anders

วงศ์ : GUTTIFERAE

ชื่อ อื่น : สร้อยภี (ภาคใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 12-20 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นตรง ขรุขระเล็กน้อย เปลือกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ผิวเปลือกมีสีน้ำตาล แตกกิ่งแน่น ปลายกิ่งมักห้อยลงลำต้นและกิ่งมียางสีเหลืองหรือขาว ใบรูปไข่ปลายมนกว้าง บางทีปลายใบเว้าลงเล็กน้อย ใบแตกออกเป็นคู่ตรงข้ามกันที่บริเวณกิ่ง โคนใบสอบเรียวแหลมถึงก้านใบ เนื้อใบหนาเกลี้ยงสีเขียว ขนาดความกว้างของใบประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9-12 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อเดี่ยว ตามกิ่ง มีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีขาวกลิ่นหอม ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้เส้นเล็ก ๆ เป็นวง มีสีเหลือง ขนาดดอกกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ผลกลมเป็นรูปกระปุกเล็ก ผิวเรียบสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลือง เนื้อในมีรสหวาน ขนาดผลยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร
ส่วนที่ใช้ : ดอก ผลสุก

สรรพคุณ :

  • ดอกสดและแห้ง - ใช้เข้ายาหอม บำรุงหัวใจ
  • ดอกตูม - ย้อมผ้าไหม ให้สีแดง
  • ผลสุก - รับ ประทานได้ มีรสหวาน เป็นยาบำรุงหัวใจ ขยายหลอดโลหิต

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ4

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ
บุนนาค


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mesua ferrea L.
ชื่อ สามัญ : Iron wood, Indian rose chestnut
วงศ์ : GUTTIFERAE
ชื่อ อื่น : ก๊าก่อ ก้ำก่อ นาคบุตร ปะนาคอ สารภีดอย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ไม่ผลัดใบ ใบ เป็นใบเดี่ยว แผ่นใบหนา รูปหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ขนาดกว้าง 2-3 ซม. ยาว 8-12 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ผิวใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมีคราบขาวปกคลุม ดอก เป็นดอกเดี่ยว หรือเกิดเป็นกระจุกตามง่ามใบ กลีบดอกสีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อน ออกดอกระหว่างช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน ผล รูปไข่ ส่วนปลายโค้งแหลม โดยยังมีส่วนกลีบรองดอกขยายใหญ่ขึ้นติดอยู่ ภายในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด
ส่วนที่ใช้ : ดอกสดและ แห้ง ผล ใบ แก่น ราก เปลือก กระพี้
สรรพคุณ :
• ดอก - กลั่นให้น้ำมันหอมระเหย ใช้ในการอบเครื่องหอมได้ดี ใช้แต่งกลิ่นสบู่
• ดอกแห้ง - ใช้เข้ายาหอม แต่งกลิ่นแต่งรสทำให้รับประทานง่าย เป็นยาหอมบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น บำรุงหัวใจ เป็นยาขับเสมหะบำรุงโลหิต แก้ร้อนกระสับกระส่าย แก้ลมกองละเอียด ซึ่งทำให้หน้ามืดวิงเวียนใจสั่น อ่อนเพลีย หัวใจหวิว ทำให้ชูกำลัง
• ผล - ขับเหงื่อ ฝาดสมาน
• ใบ - รักษาบาดแผลสด พอกบาดแผลสด แก้พิษงู
• แก่น - แก้เลือดออกตามไรฟัน
• ราก - ขับลมในลำไส้
• เปลือก - ฟอกน้ำเหลือง กระจายหนอง
• กระพี้ - แก้เสมหะในคอ
กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ
พยอม


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea roxburghii G.Don
ชื่อ สามัญ : White Meranti
วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE
ชื่อ อื่น : กะยอม ขะยอม พะยอมแดง แคน พะยอมทอง ยางหยวก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 15 – 30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่ม กลม เปลือกหนา สีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นร่องยาวตามลำต้น ใบ เดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปขอบขนาน กว้าง 3 – 4 เซนติเมตร ยาว 8 – 10 เซนติเมตร โคนมน ปลายมน หรือหยักเป็นติ่งสั้น ๆ ดอก สีขาว กลิ่นหอม ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ผล มีปีกยาว 3 ปีก ปีกสั้น 2 ปีก
ส่วนที่ใช้ : ดอก เปลือกต้น
สรรพคุณ :
• ดอก - ผสมยาแก้ไข้ และยาหอม แก้ลม บำรุงหัวใจ
• เปลือกต้น - สมานลำไส้ แก้ท้องเดิน มี Tannin มาก

กลุ่มพืช หอม เป็นยาบำรุงหัวใจ3

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ

บัวบก


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Centella asiatica Urban

ชื่อ สามัญ : Asiatic Pennywort, Tiger Herbal

วงศ์ : Umbelliferae

ชื่อ อื่น : ผักแว่น ผักหนอก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกอายุหลายปี เลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ชอบที่ชื้นแฉะแตกรากฝอยตามข้อ ไหลที่แผ่ไปจะงอกใบจากข้อชูขึ้น 3-5 ใบ ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปไตเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 ซม. ขอบใบหยัก ก้านใบยาว ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบ ขนาดเล็ก 2-3 ดอก กลีบดอกสีม่วง ผล เป็นผลแห้ง แตกได้
ส่วนที่ใช้ : ใบ ทั้งต้นสด เมล็ด

สรรพคุณ :

  • ใบ - มีสาร Asiaticoside ทำยาทาแก้แผลโรคเรื้อน
  • ทั้งต้นสด
    - เป็นยำบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า
    - รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือมีการชอกช้ำจากการกระแทก แก้พิษงูกัด
    - ปวดศีรษะข้างเดียว
    - ขับปัสสาวะ
    - แก้เจ็บคอ
    - เป็นยาห้ามเลือด ส่าแผลสด แก้โรคผิวหนัง
    - ลดความดัน แก้ช้ำใน
  • เมล็ด
    - แก้บิด แก้ไข้ ปวดศีรษะ

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

  1. ใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะข้างเดียว
    ใช้ต้นสดไม่จำกัด รับประทาน หรือคั้นน้ำจากต้นสดรับประทาน ควรรับประทานติดต่อกัน 2-3 วัน
  2. ใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ
    ใช้ทั้งต้นสด 10-20 กรัม หรือ 1 กำมือ ตำคั้นน้ำเติมน้ำส้มสายชู 1-3 ช้อนแกง จิบบ่อยๆ
  3. เป็นยาลดความดันโลหิตสูง
    ใช้ทั้งต้นสด 30-40 กรัม คั้นน้ำจากต้นสด เติมน้ำตาลเล็กน้อย รับประทาน 5-7 วัน
  4. ยาแก้ช้ำใน (พลัดตกหกล้ม)
    ใช้ต้นสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำคั้นน้ำ เติมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่ม 1 ครั้ง รับประทานติดต่อกัน 5-6 วัน
  5. เป็นยาถอนพิษรักษาแผลน้ำร้อนลวก
    ใช้ทั้งต้นสด 2-3 ต้น ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดพอกแผลไฟไหม้ ช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อน
  6. เป็นยาห้ามเลือด ใส่แผลสด
    ใช้ใบสด 20-30 ใบ ล้างให้สะอาด ตำพอกแผลสด ช่วยห้ามเลือดและรักษาแผลให้หายเร็ว

สารเคมี : สารสกัดจากใบบัวบกประกอบด้วย madecassoside asiatic acid, asiaticoside, centelloside, centellic acid brahminoside, brahmic acid.

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ

บัวหลวง


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nelumbo nucifera Gaertn.

ชื่อ สามัญ : Lotus

วงศ์ : Nelumbonaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าและไหลอยู่ใต้ดิน เหง้า จะมีลักษณะเป็นท่อนยาว มีปล้องสีเหลืองอ่อนจนถึงเหลือง แข็งเล็กน้อย ถ้าตัดตามขวางจะเป็นรูกลมๆ หลายรู ไหลจะเป็นส่วนที่เจริญไปเป็นต้นใหม่ ใบ ใบเดี่ยวรูปโล่ ออกสลับ แผ่นใบจะชูเหนือน้ำ รูปใบเกือบกลม ขนาดใหญ่ ขอบเรียบและเป็นคลื่น ผิวใบมีนวล ก้านใบแข็งเป็นหนาม ถ้าตัดตามขวางจะเห็นเป็นรูภายใน ก้านใบมีน้ำยางขาว เมื่อหักจะมีสายใยสีขาว ใบอ่อนสีเทานวล ปลายม้วนงอขึ้นทั้งสองด้าน ก้านใบจะติดตรงกลางแผ่นใบ ดอก เดี่ยว มีสีขาว สีชมพู กลิ่นหอม บัวหลวงจะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเช้า ก้านดอกยาวมีหนามเหมืนก้านใบ ชูดอกเหนือน้ำ และชูสูงกว่าใบเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 4- 5 กลีบ ขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว หรือสีเทาอมชมพู ร่วงง่าย กลีบดอกมีจำนวนมากเรียงซ้อนหลายชั้น เกสรตัวผู้มีจำนวนมากสีเหลือง ปลายอับเรณูมีระยางคล้ายกระบองเล็กๆ สีขาว เกสรตัวเมียจะฝังอยู่ในฐานรองดอกรูปกรวยสีเหลืองนวล ผล รูปกลมรีสีเขียวนวล มีจำนวนมาก ฝังอยู่ในส่วนที่เป็นรูปกรวย เมื่ออ่อนมีสีเหลือง รูปกรวยนี้เมื่อเป็นผลแก่จะขยายใหญ่ขึ้นมีสีเทาอมเขียว ที่เรียกว่า "ฝักบัว" มีผลสีเขียวอ่อนฝังอยู่เป็นจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ : ดีบัว ดอก เกษรตัวผู้ เมล็ด ไส้ของเมล็ด ยางจากก้านใบและก้านดอก เง่า ราก

สรรพคุณ :

  • ดีบัว - มี Methylcorypalline ซึ่งเป็นตัวทำให้เส้นเลือดขยาย
  • ดอก, เกษรตัวผู้ - ขับปัสสาวะ ฝากสมาน ขับเสมหะ บำรุงหัวใจ เกษรปรุงเป็นยาหอม ชูกำลัง ทำให้ชื่นใจ ยาสงบประสาท ขับเสมหะ
  • เหง้าและเมล็ด - รสหวาน เย็น มันเล็กน้อย บำรุงกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้พุพอง
  • เมล็ดอ่อนและแก่ - เมล็ดใช้รับประทานเป็นอาหาร และใช้ทำเป็นแป้งได้ดี
  • เหง้าบัวหลวง - ใช้ปรุงเป็นอาหารได้ทั้งคาวหวาน
  • ไส้ของของเมล็ด - แก้เส้นโลหิตตีบในหัวใจ
  • ยางจากก้านใบและก้านดอก - แก้ท้องเดิน
  • ราก - แก้เสมหะ

สารเคมี :

  • ดอก มีอัลคาลอยด์ ชื่อ nelumbine
  • embryo มี lotusine
  • เมล็ด มี alkaloids และ beta-sitosterol

กลุ่มพืช หอม เป็นยาบำรุงหัวใจ 2

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ
กุหลาบมอญ


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rosa damascena Mill.
ชื่อ สามัญ : Rose, Damask rose
วงศ์ : Rosaceae
ชื่อ อื่น : กุหลาบออน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) , ยี่สุ่น (กรุงเทพฯ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนาม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก รูปไข่ กว้าง 2-4 ซม. ยาว 3-5 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมนขอบจักเป็นฟันเลื่อย ออกดอกเป็นช่อดอกสีชมพูหรือสีแดง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง อยู่รวมเป็นกระจุก 3-5 ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีกลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนกันหลายชั้นเมื่อดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.5-7 ซม. มีกลิ่นหอมแรงมากดอกดกและบานได้หลายวัน ออกดอกตลอดปี
ส่วนที่ใช้ : ดอกแห้ง และสด
สรรพคุณ :
• ดอกแห้ง
- เป็นยาระบายอ่อนๆ
- แก้อาการอ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ
• ดอกสด
- กลั่นให้น้ำมันกุหลาบ แต่งกลิ่นยาและเครื่องสำอาง
วิธีใช้ - ใช้ดอกแห้งเข้ายาหอมบำรุงหัวใจ
กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ
เตยหอม


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pandanus amaryllifolius Roxb.
ชื่อ สามัญ : Pandanus Palm , Fragrant Pandan , Pandom wangi.
วงศ์ : Pandanaceae
ชื่อ อื่น : ปาแนะวองิง (มาเลเซีย-นราธิวาส)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวลักษณะแตกกอเป็นพุ่มขนาดเล็ก ลำต้นเป็นข้อ ใบออกเป็นพุ่มบริเวณปลายยอด เมื่อโตจะมีรากค้ำจุนช่วยพยุงลำต้นไว้ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเวียนเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอด ลักษณะใบยาวเรียวคล้ายใบหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นมัน เส้นกลางใบเว้าลึกเป็นแอ่ง ถ้าดูด้านท้องใบจะเห็นเป็นรูปคล้ายกระดูกงูเรือ ใบมีกลิ่นหอม
ส่วนที่ใช้ : ต้นและราก, ใบสด
สรรพคุณ :
• ต้นและราก
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้กระษัย
• ใบสด
- ตำพอกโรคผิวหนัง
- รักษาโรคหืด
- น้ำใบเตย ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น
- ใช้ผสมอาหาร แต่งกลิ่น ให้สีเขียวแต่งสีขนม
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
1. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
ใช้ต้น 1 ต้น หรือราก ครึ่งกำมือ ต้มกับน้ำดื่ม
2. ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ
ใช้ใบสดไม่จำกัดผสมในอาหาร ทำให้อาหารมีรสเย็นหอม รับประทานแล้วทำให้หัวใจชุ่มชื่น หรือเอาใบสดมาคั้นน้ำรับประทาน ครั้งละ 2-4 ช้อนแกง
3. ใช้เป็นยาแก้เบาหวาน
4. ใช้ราก 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม เข้าเย็น
สารเคมี : สารกลุ่ม anthocyanin

กลุ่มพืช หอม เป็นยาบำรุงหัวใจ

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ

กระดังงาไทย


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cananga odorata Hook.f. & Thomson var. odorata

ชื่อ สามัญ : Ylang-ylang Tree

วงศ์ : ANNONACEAE

ชื่อ อื่น : กระดังงา, กระดังงาใบใหญ่ , กระดังงาใหญ่, สะบันงา, สะบันงาต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 10-20 ม. มีรอยแผลใบขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป กิ่งตั้งฉากกับลำต้นปลายย้อยลู่ลง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่ยาว ปลายแหลม โคนมนหรือเว้าและเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบอ่อนมีขนทั้ง 2 ด้าน ใบแก่มักมีขนมากตามเส้นแขนงใบและเส้นกลางใบ ช่อดอกสั้น ออกห้อยรวมกันบนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อหนึ่งๆ มี 3-6 ดอก ดอกใหญ่ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม มีขน กลีบดอกเรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ แต่ละกลีบรูปขอบขนานปลายแหลม มีขน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย กลีบชั้นในแคบกว่าชั้นนอกเล็กน้อย โคนกลีบด้านในสีม่วงอมน้ำตาล ดอกอ่อนกลีบสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เกสรเพศเมียมีหลายอัน อยู่แยกกัน ผลเป็นผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม 4-15 ผล แต่ละผลรูปไข่ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเขียวคล้ำจนเกือบดำ มี 2-12 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน รูปไข่แบน

สรรพคุณ :

  • ดอกแก่จัด - ใช้เป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ แก้ลมวิงเวียน ชูกำลังทำให้ชุ่มชื่น ให้น้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง น้ำอบ ทำน้ำหอม ใช้ปรุงยาหอม บำรุงหัวใจ
  • ใบ, เนื้อไม้ - ต้มรับประทาน เป็นยาขับปัสสาวะพิการ

วิธีใช้ :

  1. ใช้ดอกกลั่น ได้น้ำมันหอมระเหย
  2. การแต่งกลิ่นอาหาร ทำได้โดยนำดอกที่แก่จัด ลมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียนเพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตก และส่งกลิ่นหอมออกมา แล้วนำไปเสียบไม้ ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท 1 คืน เก็บดอกทิ้งตอนเช้า นำน้ำไปคั้นกะทิ หรือปรุงอาหารอื่นๆ

สารเคมี : ใน ylang -ylang oil มีสารสำคัญคือ linalool , benzyl benzoate p-totyl methylether, methylether, benzyl acetate

กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ

การะเกด


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pandanus tectorius Blume

ชื่อ สามัญ : Screw Pine

วงศ์ : PANDANACEAE

ชื่อ อื่น : การะเกดด่าง ลำเจียกหนู เตยดง เตยด่าง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น สูง 3-7 ม. ลำต้นมักแตกกิ่งก้านสาขา มีรากอากาศค่อนข้างยาว และใหญ่ ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับกันเป็น 3 เกลียวที่ปลายกิ่ง รูปรางน้ำ กว้าง 0.7-2.5 ซม.ยาว 3-9 ซม. ค่อยๆ เรียวแหลมไปหาปลาย ขอบมีหนามแข็งยาว 0.2-1 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีนวล ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้นกัน ออกตามปลายยอด มีจำนวนมาก ติดบนแกนของช่อ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้ตั้งตรง ยาว 25-60 ซม. มีกาบสีนวลหุ้ม กลิ่นหอม เกสรเพศผู้ติดรวมอยู่บนก้านซึ่งยาว 0.8-2 ซม. ช่อดอกเพศเมียค่อนข้างกลม ประกอบด้วยเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน 3-5 อัน เป็นกลุ่ม 5-12 กลุ่ม แต่ละกลุ่มกว้าง 2-5 ซม. ยาว 3-7 ซม. ปลายหยักตื้นเป็นร่องระหว่างยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียเรียงเป็นวง ผลเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-20 ซม. แต่ละผลกว้าง 2-6.5 ซม. ยาว 4-7.5 ซม. เมื่อสุกหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางสีแสด ตรงปลายยอดสีน้ำตาลอมเหลือง ผลที่สุกแล้วมีโพรงอากาศจำนวนมาก

สรรพคุณ :

  • ดอก
    - ปรุงยาหอม ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ ดอกหอม รับประทาน มีรสขมเล็กน้อย
    - แก้โรคในอก เช่น เจ็บคอ แก้เสมหะ บำรุงธาตุ
    - อบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอม

วิธีใช้ - นำดอกไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว หรือมันหมู ปรุงเป็นน้ำมันใส่ผม นำดอกเข้ายาหอมบำรุงหัวใจ

วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน9

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน
ว่านมหากาฬ



ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gynura pseudochina (L.) DC.
วงศ์ : Asteraceae (Compositae)
ชื่ออื่น : ดาวเรือง (ภาคกลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก มีรากขนาดใหญ่ ลำต้นอวบน้ำ ทอดเลื้อยยาว ชูยอดตั้งขึ้น ใบ เดี่ยว ขอบใบหยัก หลังใบสีม่วงเข้ม ท้องใบสีเขียวแกมเทา ดอก ช่อ ออกที่ปลายยอด ก้านช่อดอกยาว กลีบดอกสีเหลืองทอง ผล เป็นผลแห้ง ไม่แตก
ส่วนที่ใช้ : หัว ใบสด
สรรพคุณ :
• หัว
- รับประทานแก้พิษอักเสบ ดับพิษกาฬ พิษร้อน
- แก้ไข้พิษเซื่องซึม แก้เริม
• ใบสด
- ขับระดู
- ตำพอกฝี หรือหัวละมะลอก งูสวัด เริม ทำให้เย็น ถอนพิษ แก้ปวดแสบปวดร้อน
วิธีและปริมาณที่ใช้
ใช้ใบสด 5-6 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด ตำในภาชนะทีสะอาด ใส่พิมเสนเล็กน้อย
ใช้ใบสด 5-6 ใบ โขลกผสมกับสุรา ใช้น้ำทา และพอกบริเวณที่เป็นด้วยก็ได้
ข้อสังเกต - ในการใช้ว่านมหากาฬรักษาเริม และงูสวัด เมื่อหายแล้ว มีการกลับเป็นใหม่น้อยกว่าเมื่อใช้เหล้าขาว
กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน
อัคคีทวาร


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum serratum L. var. wallichii C.B.clarke
วงศ์ : VERBENACEAE
ชื่อ อื่น : ตรีชะวา (ภาคกลาง) ตั่งต่อ ปอสามเกี๋ยน สามสุม (ภาคเหนือ) พรายสะเลียง สะเม่าใหญ่ (นครราชสีมา) หลัวสามเกียน (เชียงใหม่) อัคคี (สุราษฎร์ธานี) อัคคีทวาร (ภาคกลาง, เชียงใหม่)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1 - 4 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง 4 - 6 ซม. ยาว 15 - 20 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอก 5 กลีบ กลีบกลางสีม่วงเข้ม กลีบข้างสี่กลีบสีฟ้าสด รูปค่อนข้างกลม หรือรูปไข่กลับกว้าง เมื่อสุกสีม่วงเข้มหรือดำ
ส่วนที่ใช้ : ทั้งต้น ใบแห้ง ผล ราก
สรรพคุณ :
ทั้งต้น - รักษากลากเกลื้อน โรคเรื้อน
วิธีและปริมาณที่ใช้ : ใช้ใบ และต้น ตำพอกรักษากลากเกลื้อน โรคเรื้อน พอกแก้ปวดศีรษะเรื้อรัง และแก้ขัดตามข้อ และดูดหนอง

กลุ่มยา รักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน8

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน

พิลังกาสา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardisia polycephala Wall.

วงศ์ : MYRSINACEAE

ชื่อ อื่น : ตีน จำ (เลย) ผักจำ ผักจ้ำแดง (เชียงใหม่, เชียงราย)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดย่อม สูง 2-3 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันเป็นคู่ ๆ ตามข้อต้น ลักษณะใบเป็นรูปไข่ ปลายแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ไม่มีจักร ใบจะหนา ใหญ่ มีสีเขียวเป็นมัน ดอกออกเป็นช่ออยู่ตามปลายกิ่ง หรือตามส่วนยอด ดอกมีสีชมพูอมขาว ผลโตเท่าขนาดเม็ดนุ่น เมื่อยังอ่อนเป็นสีแดง ผลแก่จะเป็นสีม่วงดำ

ส่วนที่ใช้ และสรรพคุณ :

  • ใบ - แก้โรคตับพิการ แก้ท้องเสีย แก้ไอ แก้ลม
  • ดอก - ฆ่าเชื้อโรค แก้พยาธิ
  • เมล็ด - แก้ลมพิษ
  • ราก - แก้กามโรค และหนองใน พอกปิดแผล ถอนพิษงู
  • ต้น - แก้โรคผิวหนัง โรคเรื้อน

สารที่พบ : α - amyrin, rapanone ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา - ต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้ง platelet activating factor receptor binding

กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน

มะยม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus acidus (L.) Skeels

ชื่อ สามัญ : Star Gooseberry

วงศ์ : Euphorbiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 3 – 10 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณปลายยอด กิ่งก้านจะเปราะและแตกง่าย เปลือกต้นขรุขระสีเทาปนน้ำตาล ใบ เป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงแบบสลับกันเป็น 2 แถว แต่ละก้านมีใบย่อย 20 – 30 คู่ ใบรูปขอบขนานกลมหรือค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนปลายใบแหลม ฐานใบกลมหรือมน ขอบใบเรียบ ดอก ออกเป็นช่อตามกิ่ง ดอกย่อยสีเหลืองอมน้ำตาลเรื่อๆ ผล เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาวแกมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดรูปร่างกลม แข็ง สีน้ำตาลอ่อน 1 เมล็ด

ส่วนที่ใช้ : ใบตัวผู้ ผลตัวเมีย รากตัวผู้
สรรพคุณ
:

  • ใบตัว ผู้ - แก้พิษคัน แก้พิษไข้หัว เหือด หัด สุกใส ดำแดง ปรุงในยาเขียว และใช้เป็นอาหารได้
  • ผลตัวเมีย - ใช้เป็นอาหารรับประทาน
  • รากตัวผู้ - แก้ไข้ แก้โรคผิวหนัง แก้ประดง แก้เม็ดผื่นคัน ขับน้ำเหลืองให้แห้ง

วิธีและปริมาณที่ใช้ : ใช้ใบตัวผู้ หรือรากตัวผู้ ต้มน้ำดื่ม
สารเคมี

  • ผล มี tannin, dextrose, levulose, sucrose, vitamin C
  • ราก มี beta-amyrin, phyllanthol, tannin saponin, gallic acid