วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การปรุงยาตามแบบแผนไทย

การปรุงยาตามแบบแผนไทย


มี 28 วิธี ดังต่อไปนี้

1. ยาสับเป็นชิ้นเป็นท่อนใส่ลงในหม้อเติมน้ำต้ม แล้วรินแต่น้ำกิน
2. ยาดองแช่ด้วยน้ำท่าหรือน้ำสุรา แล้วรินแต่น้ำกิน
3. ยากัดด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์ หยดลงน้ำกิน
4. ยาเผาให้เป็นด่าง เอาด่างนั้นแช่น้ำไว้ แล้วรินแต่น้ำกิน
5. ยากลั่นเอาน้ำเหงื่อ เช่น กลั่นสุรา เอาน้ำเหงื่อกิน
6. ยาหุงด้วยน้ำมัน เอาน้ำมันใส่กล้องเป่าบาดแผลและฐานฝี
7. ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำบ้วนปาก
8. ยาประสมแล้ว ต้มแล้วเอาน้ำอาบ
9. ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำแช่
10. ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำชะ
11. ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำสวน
12. ยาตำเป็นผงแล้ว บดให้ละเอียด ละลายน้ำกระสายต่าง ๆ กิน
13. ยาเผาหรือเผาให้ไหม้ ตำเป็นผงบดให้ละเอียด ละลายน้ำกระสายต่าง ๆ กิน
14. ยาประสมแล้ว ตำเป็นผงกวนให้ละเอียด ใส่กล้องเป่าทางจมูกและคอ
15. ยาประสมแล้ว มวนบุหรี่สูบเอาควัน เช่น บุหรี่
16. ยาประสมแล้ว ใช้เป็นยาทา
17. ยาประสมแล้ว ใช้เป็นลูกประคบ
18. ยาประสมแล้ว ทำเป็นยาพอก
19. ยาประสมแล้ว บดละเอียดเป็นผงแล้ว ปั้นเป็นเม็ดหรือลูกกลอนกลืนกิน
20. ยาประสมแล้ว บดเป็นผงปั้นเป็นแท่งหรือเป็นแผ่น แล้วใช้เหน็บ
21. ยาประสมแล้ว บดเป็นผง ตอกอัดเม็ด
22. ยาประสมแล้ว บดเป็นผง ปั้นเม็ดแล้วเคลือบ
23. ยาประสมแล้ว ทำเป็นเม็ดแคปซูล
24. ยาประสมแล้ว ห่อผ้าบรรจุลงในกลักเอาไว้ใช้ดม
25. ยาประสมแล้ว ใส่กล้องติดไฟใช้ควันเป่าบาดแผลและฐานฝี
26. ยาประสมแล้ว เผาไฟหรือโรยบนถ่านไฟ ใช้ควันรม
27. ยาประสมแล้ว ต้มเอาไอรมหรืออบ
28. ยาประสมแล้ว กวนเป็นยาขี้ผึ้งปิดแผล ซึ่งเรียกว่ายากวน

วิธีการปรุงยาตามแบบแผนโบราณนี้แต่เดิม มี 23-24 วิธี ต่อมากระทรวงฯ ได้ประกาศเพิ่มวิธีการปรุงยาอีกสองครั้ง รวมวิธีการาปรุงยาในปัจจุบัน เป็น 28 วิธี วิธีการปรุงยานี้หมายความรวมถึงการบริหารยาเข้าด้วยกัน ซึ่งแพทย์แผนไทยมีสิทธิที่จะปรุงและใช้ยาตามกรรมวิธีแผนโบราณเท่าที่กำหนด ไว้ 28 วิธีเท่านั้น

1. ยาสับเป็นชิ้นเป็นท่อนใส่ลงในหม้อเติมน้ำต้ม แล้วรินแต่น้ำกิน

เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด สามารถใช้ได้ทั้งตัวยาสดหรือแห้ง ในตัวยาที่สารสำคัญสามารถละลายได้ดีในน้ำ โดยการนำตัวยามาทำความสะอาด สับให้เป็นท่อนขนาดพอเหมาะ และให้ง่ายต่อการทำละลายของน้ำกับตัวยา นำใส่ลงในหม้อ (ควรใช้หม้อดินใหม่หรือภาชนะเคลือบผิวที่ไม่ให้สารพิษเมื่อถูกความร้อน การใช้หม้อโลหะหรืออลูมิเนียม อาจทำให้ฤทธิ์ของยาเปลี่ยนไปได้ หรือมีโลหะปนออกมากับน้ำยา) เติมน้ำให้ท่วมยา (โดยใช้มือกดลงบนยาเบา ๆ ให้น้ำอยู่เหนือตัวยาเล็กน้อย) นำไปตั้งไฟต้มให้เดือด ตามที่กำหนดในตำรับยา หรือถ้าไม่มีกำหนดไว้ ให้กำหนดดังนี้

ถ้าเป็นตัวยาที่มีน้ำมันหอม ระเหย เช่น ขิง, กระวาน, กานพลู, ไพร, ใบกะเพรา ฯลฯ ให้ต้มน้ำให้เดือดเสียก่อนจึงนำตัวยาใส่ลงไป ปิดฝา ทิ้งไว้ให้เดือดนานประมาณ 2-5 นาที จึงรินเอาน้ำยามารับประทาน ครั้งละครึ่งถึง 1 ถ้วยกาแฟ ก่อนอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น หรือเมื่อมีอาการ

ถ้า เป็นตัวยาที่ให้ต้มรับประทานทั่วไป ให้นำตัวยาใส่ในหม้อเติมน้ำท่วมยา แล้วจึงนำไปตั้งบนเตา ต้มให้เดือดนานประมาณ 15 นาที จึงรินเอาน้ำยามารับประทาน

ถ้าเป็นการต้มเคี่ยว เช่น เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 หรือ ครึ่งหนึ่ง ให้เอาตัวยาใส่หม้อ เติมน้ำท่วมยา ตั้งไฟต้มเคี่ยวไปจนกว่าจะเหลือปริมาณน้ำประมาณ 1 ส่วน หรือ ครึ่งหนึ่งตามกำหนด (เช่น ใส่น้ำก่อนต้ม 3 ขัน ให้ต้มเคี่ยวจนเหลือน้ำประมาณ 1 ขัน หรือ 1.5 ขัน เป็นต้น)

ยาต้มที่ ปรุงจาก ใบไม้ นิยมต้มรับประทานเพียงวันเดียว แล้วทิ้งไป

ยาต้มที่ ปรุงจาก แก่นไม้ เครื่องเทศ โกฐ เทียน ถ้าต้มอุ่น เช้า-เย็น ใช้ได้ 7-10 วัน

ยาต้มที่ปรุงจาก แก่นไม้ เครื่องเทศ โกฐเทียน หัวของพืชแห้ง ถ้าต้มอุ่น เช้า-เย็น ทุกวัน ใช้ได้ 7-15 วัน

2. ยาดองแช่ด้วยน้ำท่าหรือน้ำสุรา แล้วรินแต่น้ำกิน

การดองด้วยสุรา ใช้ได้ผลดีกับตัวยาที่สารสำคัญละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ น้ำยาที่ได้จะออกฤทธิ์เร็วและแรงกว่าการใช้วิธีต้ม นิยมใช้กับตัวยาแห้ง โดยนำตัวยามาบดหยาบ หรือ สับเป็นท่อนเล็ก ๆ ใส่ลงในขวดโหลหรือไห เทเหล้าขาว นิยมใช้เหล้า ข้าวเหนียว หรือเหล้าโรง 40 ดีกรี แต่อาจใช้เหล้า 28 ดีกรีแทนได้ ใส่ให้เหล้าท่วมยาขึ้นมาพอประมาณ ถ้าเป็นตัวยาแห้งตัวยาจะพองตัว ทำให้เหล้าแห้งหรือพร่องไป ควรเติมให้ท่วมยาอยู่เสมอ นิยมใช้ไม้ไผ่ซี่เล็ก ๆ ขัดกันไม่ให้ตัวยาลอยขึ้นมา ควรคนกลับยาทุกวัน ปิดฝาทิ้งไว้ นานประมาณ 30 วัน จึงรินเอาน้ำยามาใช้ หรือรับประทาน

การดองร้อน ในกรณีที่สารสำคัญไม่สลายตัวเมื่อถูกความร้อน อาจย่นเวลาการดองได้โดยใช้วิธี ดองร้อน คือ นำตัวยาห่อผ้าขาวบางสะอาดใส่ขวดโหล เทเหล้าลงไปให้ท่วมยา เอาขวดโหลที่ใส่ยาและเหล้าแล้ววางลงในหม้อใบโดพอเหมาะ เติมน้ำธรรมดาลงในหม้อชั้นนอก ทำเหมือนการตุ๋น แล้วนำขวดโหลยาออกมา ปิดฝาทิ้งไว้ ประมาณ 7-14 วัน จึงนำยามาใช้

การดองด้วยน้ำ ก็เช่นเดียวกับการดองด้วยสุรา แต่ใช้น้ำสะอาดที่ดื่มได้แทน จะมีกรรมวิธีแตกต่างกันไปตามแต่ละตำรับที่กำหนดมา ไม่นิยมใช้กับยาทั่ว ๆ ไป เพราะเสี่ยงต่อการบูดเน่าเสีย บางตำรับอาจให้นำไหยาดองไปผึงแดดไว้ บางตำรับให้นำไปฝังข้าวเปลือก บางตำรับให้ใช้น้ำฝนกลางหาว บางตำรับให้ใช้ครึ่งหนึ่งผสมกับเหล้าครึ่งหนึ่ง เป็นต้น

3. ยากัดด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์ หยดลงน้ำกิน

เป็นการสกัดตัวยาด้วย เหล้าหรือแอลกอฮอล์ เช่นเดียวกับการดอง ใช้กับตัวยาที่มีฤทธิ์แรง เมื่อสกัดหรือดองแล้วกรองเอาน้ำยาที่ได้ นำมาหยดลงในน้ำให้เจือจางก่อนนำมารับประทาน เช่น เหล้ากัญชา, เหล้าสะระแหน่ เป็นต้น

4. ยาเผาให้เป็นต่าง เอาด่างนั้นแช่น้ำไว้ แล้วรินแต่น้ำกิน

เป็นการนำเอายามาเผาให้เป็นเถ้า (โบราณเรียกว่าด่าง) แล้วนำเอาเถ้าของยานั้นมาแช่น้ำสะอาด กรองเอาน้ำใสๆ ข้างบนมาใช้ทำยา นิยมใช้ในยาบางชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่ใช้กัดเถาดานในท้อง ขับปัสสาวะ เช่น ด่างหญ้าพันงู ด่างสลัดได เป็นต้น

5. ยากลั่นเอาน้ำเหงื่อ เช่น กลั่นสุรา เอาน้ำเหงื่อกิน

เป็นการนำ เอายาสมุนไพรมากลั่น เพื่อนำเอาผลิตผลที่ได้มาใช้ทำยา เช่น น้ำมันหอมระเหยจากไพร, ตะไคร้หอม, กฤษณา, น้ำมันสะระแหน่ เป็นต้น เหล้าหรือแอลกอฮอล์จากข้าวหมักหรือยาหมัก ในสมัยโบราณมีเหล้ายาที่ได้จากการผสมตัวยาสมุนไพรลงไปในแป้งเหล้า หรือ ในขั้นตอนการผ่าเหล้า แล้วนำเอามากลั่น ได้เหล้ายาที่ไม่ต้องผสมหรือดองสมุนไพรเพิ่มเติมอีก

6. ยาหุงด้วยน้ำมัน เอาน้ำมันใส่กล้องเป่าบาดแผลและฐานฝี

เป็นการนำ ยาสมุนไพรมาหุงด้วยน้ำมัน เช่น น้ำมันเหลือง, น้ำมันไพรที่ทำโดยวิธีหุงด้วยน้ำมัน เป็นต้น

โดยนำยาสมุนไพรใส่ลงไป ในภาชนะ เติมน้ำมันลงไปให้ท่วมยา ยกขึ้นตั้งไฟ หุงด้วยไฟอ่อน ๆ จนตัวยาสมุนไพรกรอบดีแล้ว จึงกรองเอาแต่น้ำมันมาใช้ทำยา สมุนไพรที่ใช้ นิยมใช้สมุนไพรสด

7. ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำบ้วนปาก

เป็น ยาที่นำมาต้ม แล้วกรองเอาน้ำมาทำเป็นยาสำหรับบ้วนปาก เช่น ยากแก้ปากเปื่อย แก้เหงือกบวม แก้เจ็บคอ เป็นต้น

8. ยาประสมแล้ว ต้มแล้วเอาน้ำอาบ

เป็น ยาที่นำมาต้มเพื่อนำเอาน้ำยามาอาบ เช่น ยาอาบแก้เม็ดผื่นคัน แก้เหือด-หัด สุกใส ดำแดง เป็นต้น นิยมใช้ในกรณีที่มีบริเวณเกิดโรคกว้างขวางมาก จนไม่สามารถใช้วิธีทาได้

9. ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำแช่

เป็น ยาที่นำมาต้มแล้วกรองเอาน้ำยามาแช่ อาจจะเป็นการแช่ทั้งตัว หรือแช่เฉพาะส่วนที่เกิดโรคก็ได้ นิยมใช้ในกรณีที่ต้องการให้ตัวยาซึมลงสู่ชั้นใต้ผิวหนังลึกลงไปมากกว่าการ อาบหรือทาและเป็นการรักษาทั้งส่วนบริเวณที่แช่น้ำยา เช่น การแช่น้ำยาสมุนไพรเพื่อรักษาผิว รักษารอยเหี่ยวย่น รักษาโรคที่เกิดจากการได้รับพิษเรื้อรังและเกิดโรคในบางส่วน เช่น โรคผิวหนังจากสารพิษแช่ด้วยน้ำต้มเถารางจืด เป็นต้น

10. ยาประสมแล้ว ต้อเอาน้ำชะ

เป็นยาที่ต้มแล้วกรองเอาน้ำมาใช้ชะล้าง บาดแผลต่าง ๆ เช่น น้ำต้มเปลือกต้นมะขามเทศ น้ำต้มเปลือกลูกมังคุด เป็นต้น

11. ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำสวน

เป็นยาที่นำมาต้มแล้ว กรองเอาน้ำมาใช้สวนทางทวารหนัก เพื่อช่วยการขับถ่าย หรือการให้ยาที่ใช้กับคนไข้ที่ไม่สามารถกินยาได้ หรือเป็นยาที่ต้องการให้ดูดซึมเข้าทางทวารหนัก เป็นต้น ยาบางชนิดถ้าให้ทางปากอาจเกิดพิษแก่ร่างกายได้ จึงต้องนำมาให้โดยสวนทางทวารหนัก เช่น น้ำคั้นสะอาดจากเมล็ดสุกของมะระขี้นกบด ใช้ฆ่าเชื้อสาเหตุของโรคในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินอาหารทางปากได้ จะให้น้ำผึ้งผสมน้ำหรือยาทางทวารหนัก เนื่องจากแพทย์แผนไทยไม่สามารถให้น้ำเกลือได้ เครื่องมือสวนก็อาจใช้ลูกยางหรือหม้อสวนที่ใช้อยู่โดยทั่วไป สมัยปู่ชีวกโกมารภัจจ์มีกระบอกสวนทำด้วยโลหะ

12. ยาตำเป็นผงแล้ว บดให้ละเอียด ละลายน้ำกระสายต่าง ๆ กิน

เป็นการนำยามาบดให้เป็น ผงละเอียด ด้วยเครื่องบดยา แล้วนำมาร่อนด้วยแร่ง เพื่อให้ได้ผงยาที่มีขนาดละเอียดต่าง ๆ ตามขนาดของแร่ง แร่งที่นิยมใช้ คือ แร่งเบอร์ 80 และ เบอร์ 100 ส่วนที่เป็นผงละเอียดมาก ๆ จะใช้แร่งเบอร์ 120 แล้วจึงนำผงยานั้นมาละลายน้ำกระสายยาต่าง ๆ กิน เช่น ยาหอมต่าง ๆ ยาอัมฤควาที ยาจันทลีลา ยาประสะกะเพราะ เป็นต้น

ยาสมุนไพรที่มีขนาด ใหญ่ ต้องนำมาสับหรือย่อยให้เล็กลงจนสามารถนำเข้าเครื่องบดได้ เครืองบดที่ใช้กันมาแต่โบราณใช้แท่นหิน บดด้วยแท่งหินกลม ๆ ต่อมาทำเป็นรางโลหะ ร่องรูปตัววี มีลูกกลิ้งกลมขอบแบนคม กลิ้งบดไปมาบนร่องราง ในปัจจุบันพัฒนามาเป็นรางทรงกลม เป็นอ่างบดยาลูกกลิ้งกลมหมุนรอบตัวเองโดยเครื่องกล มีลูกกลิ้งคู่ ตั้งแต่ 2 ลูกขึ้นไปตามขนาดความจุของเครื่องบดยา และยังมีเครื่องบดยาตามแบบแผนปัจจุบัน ที่ใช้ระบบฟันตัดมีตะแกรงร่อนยาในตัว

13. ยาเผาหรือเผาให้ไหม้ ตำเป็นผงบดให้ละเอียด ละลายน้ำกระสายต่าง ๆ กิน

เป็น ยาที่จะต้องนำมาเผาไหม้ ก่อนที่จะนำมากิน การเผายาให้ไหม้ จะต้องนำยามาใส่ลงในหม้อดินใหม่ ปิดฝาให้สนิทแล้วนำหม้อยานั้นมสุมด้วยไฟแกลบหรือถ่านแล้วจึงนำเอามาบดเป็นผง ให้ละเอียด นำมาละลายน้ำกระสายยาต่าง ๆ กิน เช่น ยามหานิลแท่งทอง, เมล็ดมะกอก, ลุกมะคำดีควาย เป็นต้น

14. ยาประสมแล้ว ตำเป็นผงกวนให้ละเอียด ใส่กล้องเป่าทางจมูกและคอ

เป็นยาที่นำมา ทำให้เป็นผงละเอียด แล้วนำมาใส่กล้องเป่าเข้าจมูก หรือคอ เช่น ยานัด, ยาแก้ต่อมทอลซิลอักเสบ, คออักเสบ เป็นต้น ยากลุ่มนี้จะต้องทำเป็นผงที่ละเอียดมากกว่ายาผงชนิดอื่น ควรใช้แร่งเบอร์ 120

15. ยาประสมแล้ว มวนบุหรี่สูบเอาควันเช่นบุหรี่

เป็น ยาที่นำมาทำเป็นมวน ใช้จุดไฟสูบเช่นบุหรี่ เช่น ยาแก้ริดสีดวงจมูก เป็นต้น

16. ยาประสมแล้ว ใช้เป็นยาทา

เป็นยาใช้สำหรับทา อาจจะทำมาจากยาที่นำมาต้มเคี่ยวเอาน้ำ หรือยาที่หุงหรือเคี่ยวด้วยน้ำมัน ก็ได้ เช่น ยาทาสมานแผล, ยาทาฆ่าหิดเหา, ยาทาแก้โรคผิวหนังผื่นคันต่าง ๆ เป็นต้น

17. ยาประสมแล้ว ใช้เป็นลูกประคบ

อาจจะใช้ เครื่องยาสดหรือแห้งก็ได้ นำมาผสมกันแล้วบดหยาบ ห่อด้วยผ้าขาวบางเป็นลูกประคบ เวลาใช้ต้องนำไปตั้งปากหม้อปากแคบ น้ำต้มให้เดือดจนลูกประคบระอุดีแล้ว จึงนำมาประคบตามร่างกายส่วนที่เกิดโรค เช่น ยาประคบแก้ปวดบวม แก้เส้นตึงเส้นขอด เป็นต้น ตรวจสอบความร้อนของลูกประคบโดยนำมาแตะที่หลังมือของผู้ประคบได้ไม่ร้อนมาก จึงจะใช้ได้

18. ยาประสมแล้ว ทำเป็นยาพอก

เป็นยา สมุนไพรที่นำมาตำหรือบดพอแหลก แล้วนำมาพอกบริเวณที่เกิดโรค เช่น ยาพอกแก้ฟกบวม, ใบเถาคันตำผสมกับข้าวสุกและเกลือ พอกดูดหัวฝี, เมล็ดต้อยติ่งแช่น้ำ ปิดดูดหัวฝี เป็นต้น

19. ยาประสมแล้ว บดละเอียดเป็นผงแล้ว ปั้นเป็นเม็ดหรือลูกกลอนกลืนกิน

ยาปั้นเม็ด ส่วนมากนิยมทำเป็นเม็ดกลมที่เรียกว่ายาลูกกลอน เป็นรูปแบบที่นิยมมาแต่โบราณอีกวิธีหนึ่ง การปั้นเม็ดกลม สามารถทำได้ด้วยมือ เครื่องมือที่ใช้มือ เครื่องปั้นกึ่งอัตโนมัติ หรือ เครื่องปั้นเม็ดอัตโนมัติ

20. ยาประสมแล้ว บดเป็นผงปั้นเป็นแท่งหรือเป็นแผ่น แล้วใช้เหน็บ

เป็น ยาที่บดเป็นผงละเอียดแล้วร่อนด้วยแร่งเบอร์ 100 นำมาผสมกับน้ำกระสายยา ปั้นเป็นแท่งหรือแผ่นยาว ประมาณ 1-2 ซ.ม. นำไปอบแห้งสนิท ใช้สำหรับเหน็บช่องคลอดหรือทวารหนัก เช่น ยาแก้ตกขาว, ยาสมานช่องคลอด เป็นต้น

21. ยาประสมแล้ว บดเป็นผง ตอกอัดเม็ด

เป็นยา เม็ดแบน มี 2 ชนิด คือ อัดเม็ดด้วยมือ และ อัดเม็ดด้วยเครื่องตอกเม็ด การอัดเม็ดยาด้วยมือมีวิธีเตรียมยาเช่นเดียวกับการทำยาลูกกลอน แต่นำมาอัดเม็ดด้วยเครื่องอัดเม็ดทองเหลืองด้วยมือ ส่วนการตอกอัดเม็ดยาด้วยเครื่องดอกเม็ดนั้น มีกรรมวิธีที่แตกต่างออกไปจากวิธีการแบบโบราณ จะต้องนำผงยาที่บดและร่อนละเอียดดีแล้วทำมาแกรนูลด้วยเครื่องทำแกรนูลแล้ว จึงนำไปเข้าเครื่องตอกอัดเม็ด ซึ่งมีขั้นตอนและเชื้อประสานเนื้อยาตามกรรมวิธีการผลิตยาที่ใช้ในโรงงานผลิต ยาแผนปัจจุบัน

22. ยาประสมแล้ว บดเป็นผง ปั้นเม็ดแล้วเคลือบ

เป็น ยาที่บดเป็นผงและทำเป็นเม็ดแล้วนำมาเคลือบผิวด้วยน้ำตาล เพื่อให้ดูสวยงามน่ารับประทาน หรือทำให้รับประทานง่าย หรือ เพื่อให้ยืดระยะเวลาแตกตัวของเม็ดยาให้นานออกไป การเคลือบเม็ดยามีกรรมวิธีตามมาตรฐานการผลิตยาที่ใช้ในโรงงานผลิตยาแผน ปัจจุบัน

23. ยาประสมแล้วทำเป็นเม็ดแคปซูล

เป็นยาที่ ผสมและบดเป็นผงแล้วร่อนด้วยแร่งเบอร์ 100 นำมาบรรจุลงในปลอกแคปซูล โดยเครื่องใช้มือ หรือเครื่องบรรจุแคปซูลกึ่งอัตโนมัติหรือเครื่องบรรจุแคปซูลแบบอัตโนมัติก็ ได้ ตามแต่กำลังการผลิตที่ต้องการ ขนาดของแคปซูลมีหลายขนาด เช่น ขนาดบรรจุผงยา 500 มิลลิกรัม, 250 มิลลิกรัม, 150 มิลลิกรัม เป็นต้น ปลอกแคปซูลมีหลายชนิดและหลายสีสุดแท้แต่ความพึงพอใจของผู้ผลิต ปลอกแคปซูลผลิตมาจากวัสดุต่าง ๆ กัน เช่น จากพืช และสัตว์ เป็นต้น

ยา สมุนไพรหลายชนิดสามารถนำมาบรรจุลงในปลอกแคปซูลได้ดี เช่น ยาเบญจโลกวิเชียร, ขมิ้นชัน, ฟ้าทะลายโจร, ยาผงขับลมบำรุงธาตุ เป็นต้น ไม่ควรใช้ยาที่ดูดความชื้นได้ดี หรือยาที่มีลักษณะเปียกแฉะ

คำว่า ยาแผนโบราณ ที่เคยกำหนดให้พิมพ์ไว้บนแคปซูลนั้น ปัจจุบันอนุญาตให้ไม่ต้องพิมพ์ก็ได้

24. ยาประสมแล้ว ห่อผ้าบรรจุลงในกลักเอาไว้ใช้ดม

เป็นยาดมสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เมื่อปรุงเสร็จแล้วบรรจุลงในกลักไว้สูดดม เช่น ยาดมส้มมือเป็นต้น

25. ยาประสมแล้ว ใส่กล้องติดไฟใช้ควันเป่าบาดแผลและฐานฝี

เป็นยา สมุนไพรที่ผสมและบดเป็นผงแล้ว นำมาใส่ลงในกล้อง จุดไฟให้ติดเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ด้วยกล้องในสมัยก่อน แล้วเอาควันเป่าแผลหรือฝี

26. ยาประสมแล้ว เผาไฟหรือโรยบนถ่านไฟ ใช้ควันรม

เป็นยาสมุนไพรที่ผสมและบดแล้ว นำมาโรยลงไปบนถ่านไฟ รมบริเวณที่เกิดโรค เช่น ยารมหัวริดสีดวง, ยารมดากหรือ แผลเนื้อร้ายบริเวณปากช่องคลอด เป็นต้น

โดยทำม้านั่งเจาะรูกลม ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว ตั้งให้สูงเหนือเตาไฟประมาณ 4-5 นิ้ว นำถ่านไฟที่คุโชนมาใส่ลงในเตาไฟ เอาเถ้าละเอียดโรยลงบนถ่านไฟนั้นชั้นหนึ่งก่อนป้องกันไม่ให้ไฟร้อนเกินไป จึงเอาผงยาโรยลงบนถ่านไฟในเตา เลื่อนเตาไฟให้ตรงกับช่องของม้านั่งที่เจาะไว้ ให้ผู้ป่วยนั่งบนม้านั่ง ให้ริดสีดวงทวารหรือดากอยู่ตรงกลางช่องที่เจาะไว้ รมควันและไอยานาน 10-15 นาที ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในตำรับยาหรือหมอสั่ง

27. ยาประสมแล้ว ต้มเอาไอรมหรืออบ

เป็นยาสมุนไพรที่นำมาใส่ลงในน้ำแล้วต้ม ต่อท่อหรือส่งไอน้ำยาเข้าไปในกระโจมหรือห้องอบ อุณหภูมิในห้องอบควรอยู่ระหว่าง 33-37 องศาเซลเซียส การอบยาสมุนไพร นิยมใช้ในโรคผิวหนังผื่นคัน , อัมพฤกษ์, อัมพาต, ขับโลหิตเน่าร้าย, ขับน้ำคาวปลา, ชัดมดลูกให้เข้าอู่, บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง, ลดไขมัน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น